ลงทะเบียนผู้สูงอายุปีงบ 64 เหมือนหรือแตกต่างจากปีงบก่อนนี้มั้ย เป็นคำถามที่ได้ยินมาสักพักแล้วครับ และผมได้แต่บอกไปว่า ให้รอหนังสือสั่งการก่อน ใจเย็นๆ ซึ่งเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 ที่ผ่านมาหนังสือสั่งการลงเว็บเรียบร้อย (หนังสือลงวันที่ 27 กันยายน 2562)
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
ลงทะเบียนผู้สูงอายุปีงบ 64 ทำแบบไหนอย่างไร
หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.6/ว 5744 ลงวันที่ 27 กันยายน 2562 เรื่องซักซ้อมแนวทางการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 บอกให้พวกเราดำเนินการรับลงทะเบียนผู้สูงอายุอย่างนี้ครับ
ให้พวกเราเปิดรับลงทะเบียนผู้สูงอายุปีงบ 64 สองช่วงเหมือนเดิมคือ ช่วงที่ 1 เดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน 2562 และช่วงที่สองเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน 2563 เดือนธันวาคมงดรับลงทะเบียน แต่แนะนำให้ลงทะเบียนช่วงแรกให้เสร็จครับ
แนวทางการรับลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปีงบประมาณ 2563
โดยรับลงทะเบียนผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้วที่ยังไม่เคนลงทะเบียนมาก่อน กลุ่มนี้จะรวมผู้สูงอายุที่ย้ายมาจากที่อื่นด้วยนะครับ
อีกกลุ่มหนึ่งคือ รับผู้สูงอายุที่อายุจะครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ 2564 (นับอายุถึง 1 กันยายน 2564) คือผู้สูงอายุที่เกิดระหว่างวันที่ 2 กันยายน 2503 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2504 มาลงทะเบียน
กรณีผู้สูงอายุที่รับสวัสดิการเป็นรายเดือนจากรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาลงทะเบียน เราก็สามารถรับลงทะเบียนได้ครับ โดยให้เราไปตรวจสอบสิทธิในวันที่เขามีสิทธิรับเงิน โดยเราอาจให้เขา (ผู้มาลงทะเบียน) แนบเอกสารรับรองจากต้นสังกัดของเขาว่า ในวันที่เขารับเงินนั้น เขาไม่ได้รับเงินสวัสดิการอื่นๆ แล้วนะ อะไรประมาณนี้ครับ
การมายื่นคำขอลงทะเบียนผู้สูงอายุปีงบ 64 ให้ผู้สูงอายุมาด้วยตนเอง หรือหากมีความจำเป็นไม่สามารถมายื่นด้วยตนเองได้ ให้มอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นมายื่นคำขอลงทะเบียนแทนได้
ส่วนผู้ที่ต้องโทษ อยู่ในเรือนจำ อยู่ในคุก ให้มอบอำนาจให้ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับลงทะเบียนแล้วนำมายื่นต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามภูมิลำเนาของผู้มีสิทธิ
ข้อสังเกตุ ผู้ต้องโทษเขาย้ายทะเบียนบ้านไปอยู่ในเรือนจำหรือเปล่า ตรวจสอบข้อมูลด้วยนะครับ
หลักฐานประกอบการลงทะเบียนมี
1.บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย
2.สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
3.สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร กรณีผู้ที่ขอรับเงินผ่านธนาคาร
วิธีการรับเงินยังมีอยู่ 4 วิธีเหมือนเดิม ซึ่งผู้สูงอายุจะต้องแจ้งความจำนงด้วยว่าจะรับเงินแบบไหนคือ
1.รับเงินสดด้วยตนเอง
2.รับเงินสดโดยบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีสิทธิ
3.โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารในนามผู้มีสิทธิ
4.โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารในนามบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีสิทธิ
และอย่าลืมประชาสัมพันธ์ด้วยนะครับ เราจะออกไปรับลงทะเบียนเองที่หมู่บ้าน/ชุมชน หรือเราจัดสถานที่ที่สำนักงานไว้ แล้วแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิมาลงทะเบียนกับเราก็ได้
หนังสือซักซ้อมแนวทางการรับลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประจำปีงบประมาณ 2564
ผู้สูงอายุรับเบี้ยอยู่ แล้วย้ายไปที่อื่น จะทำอย่างไร
ในหนังสือฉบับนี้บอกไว้ในข้อ 3 ครับ กรณีผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพอยู่แล้ว ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่อื่น เขาให้เราทำอย่างนี้ครับ
1.อปท.เดิมต้องแจ้งผู้สูงอายุให้ไปลงทะเบียนที่ อปท.ใหม่ ภายในเดือนพฤศจิกายน 2563 นี้
2.ในระหว่างปีงบประมาณ อปท.ใดจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่ ให้ อปท.นั้นจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป จนกว่าจะสิ้นปีงบประมาณ คือเดือนกันยายน 2563
3.อปท.ใหม่ที่รับคำร้องลงทะเบียนจากผู้สูงอายุที่ย้ายเข้ามา ต้องจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปีงบประมาณถัดไป
4.แต่ถ้าผู้สูงอายุท่านนั้น ย้ายไปแล้ว ไม่ไปลงทะเบียนที่ อปท.ใหม่ จะทำให้ไม่ได้รับเบี้ยทั้งจาก อปท.เก่า และ อปท.ใหม่ หากต่อมาได้ไปลงทะเบียนก็ให้ อปท.ใหม่รับลงทะเบียน และจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปีงบประมาณถัดไป เหมือนข้อ 3
การย้ายภูมิลำเนาของผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
การจัดทำประกาศบัญชีรายชื่อ
หลังจากรับลงทะเบียนเสร็จแล้ว (แนะนำว่า ควรรับลงทะเบียนให้เสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2562) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องทำประกาศ เรื่อง บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในแต่ละเดือนที่รับลงทะเบียนเสร็จ
แล้วปิดประกาศให้สาธารณชนทราบ ภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป เช่น รับลงทะเบียนเดือนตุลาคม 2562 เสร็จ ก็ประกาศภายในวันที่ 5 เดือนพฤศจิกายน 2562 แล้วก็อย่าลืมบันทึกข้อมูลในระบบสารสนเทศเบี้ยยังชีพด้วยนะ หรือถ้าลืมให้บันทึกภายในเดือนกันยายน 2563
แนะนำ เมื่อมีผู้สูงอายุมาลงทะเบียน ควรบันทึกข้อมูลในระบบเลยครับ จะได้ไม่ลืม
รับลงทะเบียนผู้สูงอายุปีงบ 64 วันสุดท้ายคือ วันพุธที่ 30 กันยายน 2563 ครับ แล้วเราก็ต้องทำประกาศบัญชีรายชื่อผู้สูงอายุทั้งหมด หรือบางคนอาจจะเรียกว่า ประกาศรายปี แล้วปิดประกาศในวันที่ 1 ตุลาคม 2563
และเช่นเคยครับ ก่อนถึงเดือนตุลาคม 2563 เราก็ต้องตรวจสอบว่า รายชื่อในระบบสารสนเทศเบี้ยยังชีพ กับ ประกาศรายปีของเรา ตรงกันมั้ย ถ้าไม่ตรงต้องจัดการให้ตรงก่อนตุลาคม 2563 นะครับ เพื่อที่เราจะได้ปริ๊นต์หน้า “รายงานสรุปยอดผู้ได้รับเบี้ยยังชีพแยกตามประเภท” ส่งจังหวัดต้อไป
รายงานสรุปยอดผู้ได้รับเบี้ยยังชีพ ปริ๊นต์ออกมาแล้วให้เรา ผอ.กองคลัง และปลัด เซนต์รับรองความถูกต้อง แล้วก็ส่งท้องถิ่นจังหวัดภายในวันที่ 12 ตุลาคม 2563
ลองอ่านดูนะครับ ค่อยๆ ทำความเข้าใจ แล้วพบกันใหม่โพสหน้าครับ สวัสดีครับ