เมื่อสิ้นสุดเดือนพฤศจิกายนเรารับ ลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 62 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปเราจะทำยังไง เมื่อมีคนถามมาอย่างนี้ ผมจะบอกให้ไปศึกษารายละเอียดของ หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.6/ว 5651 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2560 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ในการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติ

หนังสือฉบับนี้บอกตั้งแต่ให้พวกเราองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดให้มีการลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายใหม่ที่ยังไม่เคยลงทะเบียน ผู้สูงอายุที่ย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของเราทั้งที่ยังไม่เคยลงทะเบียนและที่เคยได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมาแล้ว
ข้อสังเกต ในปีงบ 62 นี้ไม่ยักบอกรายละเอียดว่าต้องเป็นคนที่เกิดวันที่เท่าไรยังไง บอกแค่ว่าเป็นผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปในปีงบ 62 เท่านั้น คือนักพัฒน์ที่ทำงานมานานๆ พอจะรู้นะครับว่า กลุ่มเป้าหมายที่ต้องมาลงทะเบียนก็คือกลุ่มที่เกิดก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2501 หรือเกิดระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2500 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2501 นั่นเอง แต่ปลัด นายก ไม่รู้อ่ะดิ เลยเกิดการถกเถียงกันว่าใครลงทะเบียนได้ไม่ได้ (ไม่ฮา) อ่านรายละเอียดหนังสือที่นี่
ลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 62 แล้วทำยังไงต่อ




และเมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องจัดทำประกาศ เรื่อง บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งก็คือสิ่งที่ส่งมาด้วย 6 ในหนังสือฉบับนี้ ประกาศนี้เป็นประกาศรายชื่อผู้ที่มาลงทะเบียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมานี่เองครับ มีกี่คนก็ใส่รายชื่อเข้าไป หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนแนะนำช่วงห้าตัวให้ใส่ xxxxx นะครับ เพื่อป้องกันพวกหลอกลวงและพวกอยากดังทั้งหลาย ตามตัวอย่างในภาพประกอบ
อ้อ ยอดรวมผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพด้านล่าง คือจำนวนในประกาศนี้บวกกับยอดในประกาศสิ่งที่ส่งมาด้วย 7 ที่เราจะต้องทำด้วย เพราะประกาศนี้เราจะทำทุกเดือนที่มีคนมาลงทะเบียนน่ะครับ เหมือนกับประกาศเพิ่มเติมคนพิการ จำได้มั้ยครับ อ่านต่อแล้วท่านจะเข้าใจ
สิ่งที่ส่งมาด้วย 7 เหมือนหรือต่างกับสิ่งที่ส่งมาด้วย 6 มั้ย




สิ่งที่ส่งมาด้วย 7 ก็คือ ประกาศเหมือนกันกับสิ่งที่ส่งมาด้วย 6 นั่นแหละครับ เพียงแต่ประกาศสิ่งที่ส่งมาด้วย 7 จะเป็นประกาศที่มีรายเก่าที่เราจ่ายอยู่ในปัจจุบัน (ช่องอายุลงเป็นอายุในปีงบ 62) และรายใหม่ที่จะรับเบี้ยยังชีพในปีงบ 2562 ที่เราพิมพ์ชื่อลงชื่อในประกาศสิ่งที่ส่งมาด้วย 6 นั่นแหละครับ




เลื่อนลงมาดูด้านล่างนิดหนึ่งครับ ยอดจำนวนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายเดิม ( 1 ) ก็คือคนที่เราจ่ายเบี้ยยังชีพอยู่ในปัจจุบันนี่แหละครับ (แต่อายุเขาในประกาศนี้ต้องเป็นอายุในปีงบ 2562 นะ) ยอดจำนวนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายใหม่ ( 2 ) คือคนที่มาลงทะเบียนใหม่กับเราเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานั่นแหละครับ ในประกาศสิ่งที่ส่งมาด้วย 6 มีเท่าไร มีกี่คนก็นำตัวเลขมาลงไว้
ตรง รวมจำนวนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทั้งสิ้น ( 3 ) ให้เราเอาตัวเลขในช่องที่หนึ่ง ( 1 ) และช่องที่สอง ( 2 ) มารวมกัน และช่องที่สาม ( 3 ) นี้ จะต้องเท่ากันกับยอดรวมในประกาศสิ่งที่ส่งมาด้วย 6 โอเคนะครับ




เสร็จแล้วเราก็มาทำ รายงานสรุปจำนวนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประจำปีงบประมาณ 2562 ทั้งหมด ซึ่งรายงานสรุปนี้เราก็ได้มาจากระบบสารสนเทศการจัดการฐานข้อมูลเบี้ยยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หลังจากที่เราบันทึกข้อมูลผู้มาลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อย เราก็เลือกที่หน้ารายงาน “สรุปยอดผู้ได้รับเบี้ยยังชีพแยกตามประเภท” แล้วก็เลือกปี 2562/12 (ถ้าหากเราบันทึกเสร็จในเดือนพฤศจิกายนก็เลือก 2562/11 นะครับ) เสร็จแล้วเลือก “ค้นหา” ระบบจะโชว์หน้าสรุปขึ้นมา เราก็คลิกเลือก “เปิดไฟล์ Excel” ขึ้นมาเพื่อบันทึกไว้ในคอมของเรา แล้วเราก็ไปเปิดไฟล์ในคอมเพื่อใส่ชื่อเรานักพัฒนาชุมชน ผู้อำนวยการกองคลัง และปลัด สามคนนี้ใส่ลงไปในไฟล์เพื่อนำส่งท้องถิ่นจังหวัดในวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ต่อไป
คำแนะนำ ควรบันทึกให้เสร็จภายในวันที่ 13 ธันวาคม 2560 ครับ เพื่อรอประมวลผลในวันที่ 14 ธันวาคม 2560 และจะได้ส่งทันวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ครับ
ก่อนหน้านี้เราได้แก้ไขในระบบสารสนเทศไปแล้วรอบหนึ่งในเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายน รายละเอียดที่นี่
สรุปเราต้องทำอะไรบ้าง
หลังจากเรารับลงทะเบียนผู้สูงอายุ (ที่เกิดก่อน 1 ตุลาคม 2501) เสร็จเรียบร้อย เราก็ดำเนินการทำต่อไปนี้
1. บันทึกข้อมูลผู้สูงอายุที่มาลงทะเบียนให้เสร็จเรียบร้อยภายในวันที่ 13 ธันวาคม 2560
2. จัดทำประกาศตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 6
3. จัดทำประกาศตามสิ่งที่ส่งมาด้วย
4. จัดทำสรุปจำนวนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพจากระบบสารสนเทศ ส่งจังหวัดในวันที่ 15 ธันวาคม 2560
ถึงตาคุณแล้ว ถ้ายังไม่ได้ทำตามที่ผมบอก มกราคม 2561 นี้ ลงมือเลยครับ


นักพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รองประธาน ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย)
ลูกของแม่ และเพื่อนของท่าน