อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มรดกโลกแห่งใหม่

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท – ยูเนสโกเพิ่งประกาศขึ้นทะเบียนให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ถือว่าเป็นแห่งที่สองของจังหวัดอุดรธานี แห่งแรกคือ มรดกโลกบ้านเชียง

มรดกโลกภูพระบาทตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขือน้ำ บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 60 กว่ากิโล

ผมว่านักเรียนแถวๆ นี้ (หมายถึงใกล้ๆ อำเภอบ้านผือ) ไปดูมาหมดแล้วล่ะครับ

สภาพภูมิประเทศแถบนี้เป็นโขดหินและเพิงหินทราย ซึ่งเขาบอกว่าเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และในทางโบราณคดี ภูพระบามมีร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มา 2,500 ปีมาแล้ว

ผู้รู้บอกว่ามนุษย์ยุคก่อนส่วนหนึ่งพักอาศัยอยู่บนโขดหินและเพิงผาธรรมชาติ มีหลายจุดในภูพระบาทที่พบสถานที่ซึ่งสันนิษฐานว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยอย่างห้องนอนและห้องครัวมาก่อน เพราะพบภาพเขม่าควันเกาะติดตามเพิงหิน

มนุษย์ยุคหินก็ได้ขีดเขียนภาพ เช่น ภาพ คน ภาพสัตว์ คงไว้ประดับผนังบ้าน วัสดุที่ใช้ขีดเขียนก็ได้จากสิ่งใกล้ตัวอย่างสีจากยางไม้ธรรมชาติ เลือดสัตว์บางชนิด ปรากฎให้เห็นจนถึงเดี๋ยวนี้

พอมาถึงสมัย ทวารวดี อิทธิพลของทวารวดีได้ครบคลุมพื้นที่ภูพระบาทด้วย จากเพิงพักของมนุษย์ยุคหิน ภูพระบาทถูกดัดแปลงจากโขดหินให้เป็นศาสนสถาน โดยมีคติการปักใบเสมาหินขนาดใหญ่ล้อมรอบเอาไว้

ต่อมาก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลเขมร ท้ายที่สุดได้รับอิทธิพลโดยตรงจากวัฒนธรรมล้านช้าง พบมีร่อยรอยของงานศิลปกรรมสกุลช่างลาวอยู่มิใช่น้อยบนภูพระบาท พื้นที่ภูพระบาทนับเป็นแหล่งสีมาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

สีมา หรือ เสมา คือ เขตแดนที่สำหรับภิกษุทำสังฆกรรม ในการทำหน้าที่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา

กลุ่มก้อนหิน แท่งหิน รูปทรงประหลาด บนลานหินอันกว้างใหญ่ ที่คนสมัยก่อนได้นำมาผูกแต่งเป็นเรื่องราว ตำนานรักนางอุษา-ท้าวบารส

ท้าวบารสกับนางอุสา แม้จะรักกันอย่างสุดซึ้ง แต่ด้วยอุปสรรคต่างๆ ทำให้นางอุสาผู้ผิดหวังในความรัก ทั้งจากการที่ท้าวบารสสังหารพระยากงพานบิดาของตน และการที่ท้าวบารสมีมเหสีอยู่ก่อนหน้านั้นถึง 10 นาง

สุดท้ายแล้วนางอุสาตรอมใจกลับไปสิ้นชีวิตบนหอหินสูงที่ตัวเองอาศัยอยู่ ทำให้ท้าวบารสเมื่อรู้ข่าวก็ตรอมใจตายตามไปด้วย

คนเฒ่า คนแก่ บางคนเลยเรียกหินที่มีลักษณะเป็นเพิงหินสูงรูปดอกเห็ด สูงจากพื้นประมาณ 10 เมตร ว่า หอนางอุษา

หอนี้มีการก่อหินล้อมเป็นห้องขนาดเล็กเอาไว้ที่เพิงหินด้านบน ก่อเป็นห้องที่มีประตูและหน้าต่างขนาดเล็กอยู่ที่ผนังทั้งสอง ใช้ประกอบพิธีกรรมหรือบำเพ็ญเพียรได้เป็นอย่างดี มีใบเสมาหินขนาดกลางจนถึงใหญ่ปักล้อมรอบหอนางอุสาเอาไว้ด้วย

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา

นอกจากนี้ยังมี ถ้ำพระ ที่เป็นเพิงหินขนาดใหญ่ ที่เกิดจากก้อนหินขนาดใหญ่วางทับซ้อนกันตามธรรมชาติ พบการสกัดหินก้อนล่างออกจนกลายเป็นห้องขนาดใหญ่ รวมไปถึงสลักรูปประติมากรรมทางศาสนาเอาไว้ในห้องอีกด้วย

ด้านนอกของถ้ำพระมีร่องรอยการปักใบเสมาไว้ตามทิศต่างๆ มีการสลักเป็นภาพพระพุทธรูปนั่งประทับภายในซุ้มที่มีการสลักลายอย่างงดงาม 2 ซุ้มด้วยกัน ด้านบนเป็นแถวพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ยืนเรียงกันอยู่งดงามมาก

ส่วนผนังห้องอีกด้านสลักเป็นภาพพระพุทธรูปยืนปางเปิดโลกขนาดใหญ่ 3 องค์ แต่ชำรุดแตกหักไปมาก พระพุทธรูปยืนองค์ในสุดมีร่องรอยการสลักหินตรงส่วนของผ้านุ่งเป็นแบบผ้าโจงกระเบนสั้น มีลวดลายสวยงามบ่งบอกถึงการผลัดเปลี่ยนยุคสมัยของกลุ่มคนที่เคยอาศัยอยู่ที่นี่

อธิบายไม่ถูกหรอกครับ เอาเป็นว่า อยากให้พวกเราไปชม อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ที่อำเภอบ้านผือด้วยกันครับ

อ่าน ความสำคัญของภูพระบาท ที่นี่

การศึกษาดูงาน ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

ภาพประกอบจาก the standard

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.