ผู้ป่วยเอดส์ติดคุก สามารถรับเงินเบี้ยยังชีพได้หรือไม่ มาฟังคำตอบชัดชัด

ผู้ป่วยเอดส์ติดคุก – สามารถรับเงินเบี้ยยังชีพได้หรือไม่ กับคำถามนี้ที่ถามกันมาตั้งแต่ทราบว่า คนพิการติดคุกสามารถรับเงินเบี้ยความพิการได้ ตามหนังสือหารือโคราชเมื่อไม่นานปีมานี้

คราวนี้มีผู้ป่วยเอดส์ติดคุก ก็มีหนังสือหารือเหมือนกันครับ หนังสือหารือจากจังหวัดนครสวรรค์หารือเกี่ยวกับการขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้ป่วยเอดส์ที่ติดคุกอยู่

ผู้ป่วยเอดส์ติดคุก

ผู้ป่วยเอดส์ติดคุก ลงทะเบียนขอรับเบี้ย

ผู้ป่วยเอดส์คนนี้ติดคุกอยู่เรือนจำกลางนครสวรรค์ และได้ยื่นเรื่องลงทะเบียนกับเทศบาลนครนครสวรรค์ผ่านทางเรือนจำกลางว่า ขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้ป่วยเอดส์ โดยแนบเอกสารหลักฐานมาอย่างถูกต้อง  เช่น  ใบรับรองแพทย์  สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  สำเนาทะเบียนบ้าน  (ซึ่งย้ายเข้ามาอยู่ในเรือนจำแล้ว)  และเอกสารหลักฐานอื่นๆ

ทางเทศบาลนครนครสวรรค์เห็นว่าไม่สามารถรับลงทะเบียนได้ (ซึ่งผมคาดว่าน่าจะมีความเห็นเหมือนกับหลายๆ ท่านที่มีข้อถกเถีงกันมาตลอดคือ ระเบียบปี 48 กับคำว่า ขาดผู้อุปการะ ไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ และอื่นๆ)

จึงได้ทำหนังสือหารือมาที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งกรมฯ ได้ตอบกลับมาตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0810.6/ว 751 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 เรื่อง แจ้งแนวทางปฏิบัติการขอรับเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพของผู้ป่วยเอดส์ที่ต้องโทษจำคุก

หารือแนวทางปฏิบัติ

หนังสือฉบับนี้บอกว่า  จังหวัดนครสวรรค์ขอหารือเกี่ยวกับการขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้ป่วยเอดส์ของผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำ  ซึ่งเรือนจำกลางนครสวรรค์ขอให้เทศบาลนครนครสวรรค์  พิจารณาตรวจสอบแล้วก็ลงทะเบียนให้แก่ผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำกลางนครสวรรค์  ซึ่งป่วยเป็นโรคเอดส์  และมีความประสงค์ขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้ป่วยเอดส์

เทศบาลนครนครสวรรค์พิจารณาจากระเบียบการจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้ป่วยเอดส์ปี  2548  และหนังสือกระทรวงมหาดไทย  ด่วนที่สุด  ที่ มท 0891.3/ว 1545  ลงวันที่  20  พฤษภาคม  2551  มีความเห็นว่า  ไม่สามารถรับลงทะเบียนและจ่ายเบี้ยยังชีพผู้ป่วยเอดส์ให้กับผู้ป่วยเอดส์รายนี้ได้  จึงขอหารือว่า  ความเห็นนี้ถูกต้องหรือไม่

ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพิจารณาแล้วเห็นว่า  ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  47  กำหนดให้  ภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล  หรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฏหมาย  ได้แก่เรือนจำ  หรือ ทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่ จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว

และระเบียบกระทรวงมหาดไทย  ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  พ.ศ.  2548 ข้อ  6  กำหนดให้ผู้มีสิทธิจะได้รับเงินสงเคราะห์ผู้ป่วยเอดส์ต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ  หรือถูกทอดทิ้ง  หรือขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู  หรือไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้

ประกอบกับ  กระทรวงมหาดไทย  ได้มีหนังสือแจ้งแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับ  การรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ  กรณีผู้สูงอายุต้องโทษจำคุก  ว่า  พิจารณาจากกฏกระทรวงมหาดไทย  ออกตามความในมาตรา  58  แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์  พุทธศักราช  2479  ส่วนที่  6  การอนามัยและการสุขาภิบาล  หมวด  2  อนามัยของผู้ต้องขัง  ข้อ  70

กำหนดให้  จ่ายเครื่องนุ่งห่มหลับนอนให้แก่นักโทษเด็ดขาดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด  หมวด  3  การรักษาพยาบาล  ข้อ  72  กำหนดให้เรือนจำทุกแห่งจัดให้มีสถานพยาบาลเพื่อเป็นการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังที่ป่วย

หมวด  4  การเลี้ยงอาหาร  ข้อ  77  กำหนดให้ผู้ต้องขังได้รับประทานอาหารอย่างน้อย  2  มื้อคือเช้าและเย็น  เป็นการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  เรื่องกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง  ไม่ถือเป็นการได้รับสวัสดิการ  หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ  จึงมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

ดังนั้น ผู้ป่วยเอดส์ที่ต้องโทษจำคุกในเรือนจำ จึงมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์เช่นเดียวกัน

โดยเทศบาลนครนครสวรรค์  ต้องตรวจสอบสภาพผู้ต้องโทษจำคุกให้ได้ข้อเท็จจริงที่มีความชัดเจนก่อนว่า  มีคุณสมบัติตามข้อ  10  ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย  ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  พ.ศ.  2548

หากปรากฏว่า  ผู้ต้องโทษจำคุกก่อนเข้าเรือนจำ  มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์  ขณะอยู่ในเรือนจำก็มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์ตามเดิม

คนที่เคยเข้ารับการอบรมกับ  ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  (แห่งประเทศไทย)  และ  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  คงจะคุ้นๆ กับคำตอบตามหนังสือหารือฉบับนี้กันนะครับ  เพราะวิทยากรของเราบอกเล่าเรื่องนี้ไว้อย่างดีเยี่ยมในการบรรยายแต่ละครั้ง  แต่ละรอบ

จำได้มั้ยครับ  วิทยากรบอกว่า  ถ้าผู้ป่วยเอดส์ติดคุกที่จังหวัดไหน  ให้ดูว่าคุกหรือเรือนจำจังหวัดนั้นอยู่ในเขตพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด  เช่น  เรือนจำกลางอุดรธานีอยู่ในเขตของเทศบาลนครอุดรธานี  ซึ่งแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกันนะครับ  เรือนจำกลางประจำจังหวัดอาจไม่ได้อยู่ในเขตเทศบาลนครก็ได้

ทำไมถึงต้องดู  ก็เพราะว่า  ถ้าเขาติกคุก  ชื่อในทะเบียนบ้านของเขาจะย้ายมาอยู่ในเขตที่คุกหรือเรือนจำนั้นอยู่ทันที  เพราะฉะนั้น  พื้นที่เดิมเมื่อเขาย้ายออกมา  (เพราะติดคุก)  ก็ต้องหมดสิทธิรับเบี้ยผู้ป่วยเอดส์ทันที

เมื่อต้องการได้รับเบี้ยต่อไป  ก็ต้องมายื่นขอใหม่  ซึ่งตามระเบียบเราต้องยื่นขอที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เรามีภูมิลำเนา  ในกรณีติดคุกผมบอกไปแล้วว่า  ชื่อในทะเบียนบ้านจะย้ายมาอยูที่เรือนจำ  ก็ต้องไปยื่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เรือนจำอยู่ในพื้นที่

เมื่อยื่นความจำนงขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้ป่วยเอดส์ไปแล้ว  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมีหน้าที่ไปตรวจสอบความเป็นอยู่ของผู้ยื่นคำขอว่า  มีความเดือนร้อนจนไม่สามารถยังชีพได้หรือไม่  มีผู้ดูแลอุปการะมั้ย  ซึ่งการเข้าไปตรวจสอบในคุกนั้น  เรือนจำเขาไม่ให้เข้าไปหรอกครับ  ทีนี่เมื่อเข้าไปที่เรือนจำไม่ได้  เราก็ไปตรวจสอบข้อมูลที่ภูมิลำเนาเก่าของผู้ป่วยเอดส์ก่อนที่เขาจะติดคุกก็ได้

ที่สำคัญคือ  นายกจะให้เราไปมั้ยเท่านั้นเอง

ตัวอย่างเช่น  มีผู้ป่วยเอดส์จากจังหวัดมหาสารคาม  มาทำความผิดและติดคุกที่จังหวัดอุดร  เมื่อย้ายมาติดคุกที่อุดร  ทะเบียนบ้านย่อมมาอยู่ที่อุดรครับ  (เรือนจำ)  ทางมหาสารคามเขาตัดสิทธิเบี้ยยังชีพเอดส์แน่นอนครับ  เมื่ออยากได้เบี้ยต่อก็ต้องยื่นคำขอใหม่ที่เทศบาลนครอุดร  เพราะเรือนจำอุดรอยู่ในเขตเทศบาลนครอุดร

เมื่อเทศบาลนครอุดรรับเรื่องแล้วขอเข้าไปตรวจสอบในเรือนจำเขาไม่ให้เข้า  สามารถขอนายกไปตรวจสอบที่ภูมิลำเนาเดิมก็ได้ครับ  สมมติว่านายกไม่ให้ไป  ไม่มีข้อมูล  ไม่จ่ายได้มั้ย  ได้ครับ

อ่าน แนวทางการปฏิบัติการขอรับเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพผู้ป่วยเอดส์ที่ต้องโทษจำคุก ที่นี่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง ผู้สูงอายุติดคุก สามารถรับเบี้ยยังชีพได้หรือไม่

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.