อริยสัจ 4 แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มีอยู่ 4 ประการ
วันเข้าพรรษาปี 2560 นี้เรามาศึกษาถึงอริยสัจ 4 กันสักนิดหนึ่งครับ ว่ามันมีอะไรบ้างที่บอกว่า 4 ประการเนี่ย และศึกษาต่อไปด้วยว่า การจะเข้าถึงความจริงอันประเสริฐ 4 ประการนี้น่ะ ทำกันยังไง ยากหรือง่าย
อริยสัจ 4 ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ มีอะไรบ้าง
ผมขอนำเอาคำอธิบายมาจาก วิกิพีเดีย ก็แล้วกันครับ และผมจะเสริมในบางประเด็น
ประการที่หนึ่ง คือ ทุกข์
ทุกข์ก็คือสภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น ได้แก่ ชาติ (การเกิด) ชรา (การแก่ การเก่า) มรณะ (การตาย การสลายไป การสูญสิ้น) การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวังในสิ่งนั้น กล่าวโดยย่อ ทุกข์ก็คืออุปาทานขันธ์ หรือ ขันธ์ 5
ขันธ์ 5 ประกอบไปด้วยกองรูปธรรม และนามธรรม สามารถแยกออกได้เป็น 1 รูป 4 นาม คือ
รูป คือ ร่างกาย พฤติกรรม คุณสมบัติต่างๆ ของร่างกาย และส่วนประกอบที่เป็นรูปธรรมทั้งหมด
เวทนา คือ ความรู้สึก ไม่ว่าจะรู้สึกทุกข์ รู้สึกสุข รู้สึกพอใจ รู้สึกเสียใจ หรือรู้สึกเฉยๆ
สัญญา คือ ความจำ การจดจำสิ่งที่ได้รับ ไม่ว่าทุกข์ สุข หรือเฉยๆ
สังขาร คือ ความคิด การคิดปรุงแต่ง ปรุงแต่งไปในทางทุกข์ สุข หรือเฉยๆ
วิญญาณ คือ ความรับรู้ ความรู้แจ้งในอารมณ์ต่างๆ ผ่านการรับรู้ 6 ช่องทางคือ ตาจากการได้เห็น หูจากการได้ยิน จมูกจากการได้กลิ่น ลิ้นจากการได้รับรส กายจากการสัมผัส ใจจากการคิด
สรุปแล้ว ทุกข์ ก็คือ ร่างการ ความรู้สึก ความจำ ความคิด ความรับรู้ ของเรานี่เอง
ประการที่สอง คือ สมุทัย
สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ คือ ตัณหา 3 อย่าง (ตัณหา แปลว่า ความอยาก) คือ
1) กามตัณหา ความอยากในกาม อยากในรูปสัมผัสอันเกิดจากความกำหนัด ความหลงไหล ติดใจในสิ่งที่ตัวเองเคยสัมผัสจาก ตา หู จมูก ลิ้น และจากกาย
2) ภวตัณหา ความอยากเป็น อยากให้เกิดขึ้นตามการปรุงแต่งในจิตใจ เช่น อยากเป็นนายก
3) วิภวตัณหา ความไม่อยากเป็น อยากก้าวข้ามเรื่องที่ตัวเองปรุงแต่งในจิตใจ เช่น ไม่อยากเป็นทหาร
สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ก็คือ “ความอยาก” และ “ความไม่อยาก” นั่นเองครับ ไม่ว่าจะอยากได้ อยากมี อยากเป็น หรือแม้กระทั่ง ไม่อยากเป็นนั่น ไม่อยากเป็นนี่
ความจริงอันประเสริฐประการที่สาม คือ นิโรธ
นิโรธ ก็คือ ความไม่มีทุกข์ คือเข้าใจสาเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) เข้าใจความจริงของชีวิต อันนำไปสู่การดับความเศร้าโศก ดับตัณหา ดับความอยากทั้ง 3 อย่างได้
ประการที่สี่ คือ มรรค
มรรค คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่การดับทุกข์ หรือ หนทางที่จะนำเราไปสู่ภาวะที่พ้นจากความทุกข์ มีอยู่ 8 อย่าง คือ
1) ความเห็นชอบ ความเห็นที่ถูกต้อง หมายถึง การเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม ปฏิบัติอย่างเหมาะสม
2) ความดำริชอบ ความคิดที่ถูกต้อง คือรู้จักคิดในทางที่ถูกที่ควรบนพื้นฐานของศีลธรรมอันงามที่ปราศจากการคิดโลภในความอยากของตน การคิดพยาบาท อาฆาตแค้น และการคิดที่จะเบียดเบียนผู้อื่นให้เสียหาย
3) การเจรจาชอบ วาจาที่ถูกต้อง พูดออกมาแล้วไม่เป็นโทษต่อตัวเอง ไม่เป็นโทษต่อผู้อื่น อย่าพูดคำหยาบ อย่าพูดกลับไปกลับมา เป็นต้น
4) การประพฤติชอบ การปฏิบัติที่ถูกต้อง การกระทำที่ถูกต้อง กระทำอะไรแล้ว ไม่เป็นโทษต่อตัวเองและผู้อื่น คือปฏิบัติตามศีล 5 ได้จะดีมาก
5) การเลี้ยงชีพชอบ การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง ประกอบอาชีพด้วยความสุจริต ด้วยความรู้ความสามารถของตน
6) การเพียรชอบ ความเพียรที่ถูกต้อง หมายถึง ความเพียรในการทำงาน ความเพียรในการทำความดี
7) การตั้งสติชอบ การมีสติที่ถูกต้อง สามารถระมัดระวังไม่ให้ตัวเองหลงเข้าไปทำในสิ่งไม่ดี รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ข้อนี้บอกให้ทำสมาธินั่นเองครับ
8) การตั้งมั่นชอบ การมีสมาธิที่ถูกต้อง คือ การมีจิตใจแน่วแน่ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
เป็นไงบ้างครับ คิดว่าทำได้มั้ย ค่อยๆ ทำไปครับ ตอนนี้เรารู้แล้วว่า อริยสัจ 4 ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการนี้มีอะไรบ้าง เราก็ค่อยๆ ทำตามไป ขอให้พยายาม (ความเพียร) เราจะไปถึง
ที่มา วิกิพีเดีย ภาพประกอบ จากอินเตอร์เน็ต
นักพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รองประธาน ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย)
ลูกของแม่ และเพื่อนของท่าน