การจัดทำเว็บไซต์ อบต. เขียนขึ้นเพื่อเป็นบันทึกการทำงานละกันครับ เพราะโดยปกติผมไม่ได้รับจ้างทำเว็บอยู่แล้วการที่จะได้ทำบ่อยๆ เหมือนรับจ้างทำคงไม่มีโอกาสเกิดขึ้น ฉะนั้นบันทึกไว้กันลืมดีที่สุด และอีกอย่างเอาไว้สำหรับใครก็ตามที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดทำ จัดสร้าง หรือว่าจัดหาผู้รับจ้างจะได้นำคำบอกเล่านี้ไปพิจารณาเผื่อใช้ประโยชน์ต่อได้
ซึ่งผมเข้าใจว่าส่วนมากคงไม่ใช่นักพัฒนาชุมชนหรอกมั้ง 55555
ในปัจจุบัน (ปี 2018 หรือ พ.ศ. 2561) มีวิธีการในการจัดทำเว็บไซต์ได้อย่างง่ายๆ ครับ มีโปรแกรมสำเร็จรูปใช้งานง่ายๆ คนที่ไม่รู้เรื่องภาษาเขียนเว็บก็สามารถใช้งานได้ เลือกมาเลยว่าจะเอาแบบไหน ส่วนมากในเว็บไซต์หน่วยงานราชการก็จะใช้ Joomla เหมือนอย่างเว็บของ ชมรมพัฒนาชุมชนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย) ใช้อยู่นั่นแหละครับ
แต่ที่ผมเลือกใช้กับเว็บ อบต.โคกกลาง คือ wordpress ซึ่งเป็น CMS หรือโปรแกรมสำเร็จรูปอีกแบบหนึ่ง เหตุผลที่เลือกใช้ไม่มีอะไรมากไปกว่า ความคุ้นเคยหรอกครับ เว็บส่วนตัว phorchor.com ที่ทำอยู่ก็ใช้ตัวนี้ทำ ก่อนหน้านี้ก็ใช้ตัวนี้ทำ มันเลยเกิดความคุ้นเคย
การจัดทำเว็บไซต์ อบต.ต้องเตรียมการอะไรบ้าง
1.อันดับแรกเลยคือชื่อครับ เราเรียกว่า Domain Name ยิ่ง อบต.โคกกลาง มีมากมายหลายแห่งมากในประเทศไทย ชื่อที่ใช้เป็นภาษาอังกฤษอ่านว่า โคกกลาง เหมือนกัน แต่สะกดต่างกันก็เพราะเรื่องชื่อโดเมนนี่แหละครับ เว็บเก่าของ อบต.โคกกลาง คือ khogklang.com ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมสะกดด้วยตัว g
และในขณะที่ทำเว็บใหม่ เว็บเก่ายังไม่หมดอายุโดเมน แต่เนื่องจากเว็บเก่าเจอสแปมไวรัสทำให้เข้าไปจัดการหลังบ้านไม่ได้เลย แล้วเจ้าของโฮสที่เราใช้บริการอยู่เหมือนกับว่าจะไม่ทำต่อแล้วเพราะติดต่อให้แก้ไขปัญหาให้ได้ช้ามาก ทำให้ผมต้องจดโดเมนใหม่ครับ นี่แหละคือที่มาที่เราต้องนึกถึงก่อน
ที่ต้องคิดต่อไปคือนามสกุลเว็บครับ เลือกชื่อได้แล้ว ต่อไปหานามสกุลให้เขา จะเลือกแบบไหนก็พิจารณาดู
.com ใช้กับเว็บ บริษัท ห้างร้านทั่วไป หรือเว็บส่วนตัว
.net ใช้กับเว็บไซต์ข้อมูลข่าวสาร
.org ใช้กับเว็บไซต์ขององค์กรที่ไม่แสวงหากำไร มูลนิธิต่างๆ
ถ้าจดทะเบียนในประเทศไทยบ้านเราก็จะมี .th ต่อท้าย เช่น
.co.th ใช้กับบริษัทห้างร้านที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และตั้งอยู่ในประเทศไทย
.go.th ใช้กับหน่วยงานของรัฐ เช่น อบต. เทศบาล หรือหน่วยงานราชการอื่นๆ
.ac.th ใช้สำหรับสถาบันการศึกษาที่จดทะเบียนในประเทศไทยเท่านั้น
.or.th ใช้สำหรับหน่วยงาน องค์กร มูลนิธิ ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย และไม่หวังผลตอบแทนทางธุรกิจ
.in.th ใช้กับหน่วยงานทุกประเภท และบุคคลทั่วไป
เป็นต้น
จะเห็นว่าเว็บหน่วยงานราชการอย่าง อบต. เทศบาล มีบางแห่งเท่านั้นที่จดทะเบียนโดเมนในประเทศไทย และเลือก .go.th เพราะต้องใช้เอกสารในการจัดตั้งองค์กรประกอบด้วย ส่วนมากเลือกแบบ .com .net เพราะง่ายในการจดโดเมน และผมก็เลือกนามสกุล .com เหมือนกันครับ
ข้อแนะนำเบื้องต้นในการตั้งชื่อโดเมนคือ ให้เตรียมชื่อไว้ 3 ชื่อครับ เรียงลำดับความสำคัญไว้ แล้วไปตรวจสอบว่า โดเมนที่เราเลือกนั้นว่างมั้ย มีคนจดไปหรือยัง วิธีการตรวจสอบง่ายมากๆ แค่พิมพ์ค้นหาใน google ว่า จดโดเมน มันจะขึ้นมาให้เราเลือกเพียบเลยครับ เราก็เลือกมาสักเว็บ
ในตัวอย่างผมเลือก GoDaddy ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านนี้อยู่ เมื่อกรอกข้อมูลชื่อโดเมนที่เราต้องการลงไปแล้วค้นหา มันจะบอกขึ้นมาเลยว่าว่างหรือไม่ว่าง แล้วก็มีตัวเลือกอื่นๆ ให้เราเลือกด้วย
2.เลือกเว็บโฮสติ้งเพื่อฝากเว็บไซต์ของเรา หลายท่านอาจจะสงสัยว่าโฮสติ้งคืออะไรวะ ผมขออธิบายแบบสั้นๆ อย่างนี้ครับ โฮสติ้ง (Hosting) ก็คือ พื้นที่ในการนำเสนอข้อมูลออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ต เมื่อคนใดต้องการเผยแพร่ข้อมูลแบบออนไลน์ ให้ผู้อื่นสามารถเข้ามาเรียกดูข้อมูล ดาวน์โหลดข้อมูล หรืออื่นๆ จะต้องมีการสร้างเว็บไซต์และอัพโหลดขึ้นมาเก็บที่โฮสติ้ง
ปัญหาหนักอกจะตามมาเมื่อเราต้องเลือกโฮสที่เราจะต้องฝากข้อมูลเว็บไซต์ของเราไว้ เพราะเราจะงงๆ ว่า กูจะเลือกอันไหนดีวะ ผมแนะนำให้ค้นข้อมูลในกูเกิ้ลดูครับว่าโฮสแต่ละเจ้าดีหรือไม่ดียังไง จะให้ดีอ่านข้อมูลจากผู้ใช้งานจริงครับ โฮสมีเยอะหลายราคา มีตั้งแต่ปีละไม่ถึงห้าร้อยบาทจนถึงระดับหลายพัน
เราจะเลือกแบบไหนอยู่ที่ เว็บเราทำด้วย CMS แบบไหน แต่เบื้องต้นผมแนะนำแบบธรรมดาๆ ก่อนครับ ราคาไม่เกินสองพันบาทต่อปีกำลังดีครับ เพราะผมเชื่อว่า เว็บ อบต.คงไม่มีคนแห่เข้าวันละพันวันละหมื่นหรอก ก็ขนาดพนักงาน อบต.เองมันยังไม่เข้าไปดูเลย HA HA
เมื่อเลือกโฮสได้แล้ว ควรจดโดเมนที่นั่นเลยครับ ราคารวมกันแล้วมีเงินในกระเป๋าสองพันนี่เอาอยู่แน่นอน ไม่ควรซื้อพื้นที่เยอะ ควรเลือกแบบพอเหมาะแล้วค่อยไปอัพเกรดเมื่อพื้นที่เต็มดีกว่าครับ
เอาล่ะ ได้ชื่อโดเมน ได้พื้นที่ที่จะเก็บข้อมูลแล้ว ติดต่อประสานงานโอนเงินเรียบร้อย ขั้นตอนนี้ผมไม่ขอเล่ารายละเอียดนะครับ ถามพัสดุ อบต.ของท่านเลยครับ เขาถนัดมากกว่าผมอีก ขั้นตอนต่อไปคือ การติดตั้งโปรแกรม CMS ซึ่งมีขั้นตอนที่ทำเองได้ง่ายๆ ศึกษาบทความการติดตั้งจากโฮสที่เราเช่าได้ แต่ถ้าทำไม่เป็นก็บอกโฮสเขาให้ติดตั้งให้ก็ได้ครับ เขาไม่คิดค่าบริการ (แต่บางเจ้าคิดนะถามเขาก่อน)
3.ปรับแต่งเว็บไซต์ ขั้นตอนนี้อยู่ที่เราวางผังเว็บไซต์ไว้ยังไง ถ้าใครยังนึกไม่ออกไปเปิดดูแนวทางการประเมิน ITA ดูครับว่า อะไรบ้างที่เขากำหนดมาว่าต้องมี ก็ใส่เข้าไป ที่จริงเว็บหน่วยงานราชการไม่ค่อยมีอะไรที่โดดเด่นอยู่แล้ว เท่าที่เห็นๆ ก็ใส่รูปนายก ใส่รูปปลัด ใส่รูปกิจกรรมลงไป นานทีปีหนถึงจะมีการอัพเดททีหนึ่ง ไม่มีอะไรยากครับ สิ่งที่ยากอยู่ที่ข้อต่อไป
4.โปรโมทเว็บไซต์
แนวทางการโปรโมทเว็บไซต์ เรียกตามภาษาของคนทำเว็บคงเป็น SEO ซึ่งแนวทางการทำ SEO มันก็คือ วิธีการที่ทำให้ google เห็นเว็บเราและบันทึกข้อมูลของเว็บเราลงในสารบบของ google ซึ่งรายละเอียดในการทำมีขั้นตอนเยอะแยะมากมาย และก็ไม่มีอะไรมารับประกันว่ามันจะได้ผล
แต่อีกไม่นานเกินรอ เว็บ อบต.โคกกลาง คงเป็นที่รู้จักของทุกคน
เอาเป็นว่าขั้นตอนในการทำ SEO เนี่ย เดี๋ยวเราค่อยมาเล่าสู่กันฟังอีกทีหนึ่ง สำหรับโพสนี้เอาแค่นี้ก่อนละกันครับ สวัสดีครับ
นักพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รองประธาน ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย)
ลูกของแม่ และเพื่อนของท่าน