การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ แบบ e-payment จากกรมบัญชีกลาง มีความชัดเจนขึ้นอีกระดับหนึ่ง ช่วยให้นักพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายต่อหลายแห่งรู้สึกโล่งขึ้นบ้าง
เมื่อมีหนังสือ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.6/ว 185 ลงวันที่ 20 มกราคม 2563 เรื่อง ซักซ้อมแนวทาง การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามโครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-payment) ออกมา
การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ แบบ e-payment มีแนวทางแล้วนะ
หนังสือฉบับนี้ ได้แจ้งแนวทาง หลักเกณฑ์ และวิธีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการที่กรมบัญชีกลางได้เริ่มจ่ายเงินแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาตั้งแต่วันที่ 10 เดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา
แนวทางการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ ได้แยกเป็นประเด็นและได้บอกแนวทางการดำเนินการไว้ด้วย จำนวน 10 ประเด็น สรุปได้ดังนี้
1. การบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ้าหากว่าท้องถิ่นใดทำผิด คือผู้สูงอายุไม่ได้บริจาค แต่ทางท้องถิ่นเราไปบันทึกในระบบสารสนเทศเบี้ยยังชีพว่าบริจาค
เมื่อเป็นอย่างนั้น ในวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมากรมบัญชีกลางจะโอนเงินเข้าบัญชีรับบริจาคของ พมจ. ผู้สูงอายุก็จะไม่ได้รับเงิน
ใครเป็นอย่างนี้ ให้ท้องถิ่นเราเนี่ยนำผู้สูงอายุไปประสานกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเราเพื่อขอเงินคืน จะได้นำไปให้ผู้สูงอายุต่อไปครับ
2. อปท.ไปเปลี่ยนเลขบัญชีของผู้มีสิทธิเป็นเลขบัญชีของ อปท. ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม (บางคนไม่ได้ต้งใจ มันเป็นการคีย์เลขบัญชีผิด แต่ดันไปตรงกับเลขของ อปท.) ทำให้เงินโอนมาที่ อปท. แทนที่จะไปหาผู้มีสิทธิ
เมื่อเกิดกรณีแบบนี้ ให้ อปท.เบิกเงินจำนวนดังกล่าวนั้นไปจ่ายให้กับผู้มีสิทธิ และเข้าไปแก้ไขเลขบัญชีให้ถูกต้องในระบบต่อไป
3. กรณีผู้สูงอายุหรือพิการต้องโทษจำคุก และได้มอบอำนาจให้ผู้บัญชาการเรือนจำหรือผู้แทนเป็นผู้รับเงินแทนผู้มีสิทธิ ทางเรือนจำเขาจะใช้บัญชีของเรือนจำในการแจ้งโอนเงินจากกรมบัญชีกลาง
ซึ่งชื่อบัญชีของทางเรือนจำจะมีความยาวมาก ระบบของกรมบัญชีกลางจะไม่สามารถประมวลผลได้
ให้ อปท.เราเข้าไปเปลี่ยนชื่อธนาคารในระบบสารสนเทศเบี้ยยังชีพเป็นชื่อของเรือจำนั้นๆ แทน เช่น จากชื่อบัญชี บัญชีเงินเบี้ยยังชีพสำหรับผู้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ เรือนจำกลางจังหวัดอุดรธานี อาจเปลี่ยนเป็น เรือนจำกลางอุดรธานี เป็นต้น
4. เมื่อจ่ายเงินซ้ำซ้อน คือ อปท.ไม่ตรวจสอบข้อมูลว่าผู้มีสิทธิรับเงินรายนี้ รับเงินแบบไหน รับเงินสดด้วยตัวเอง รับเงินสดโดยมอบอำนาจ โอนเข้าบัญชีตัวเอง หรือโอนเข้าบัญชีผู้รับมอบอำนาจ ไม่ตรวจสอบแล้วยังไม่รอให้กรมบัญชีกลางจ่ายให้
ทำให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินทั้งจาก อปท. และจากกรมบัญชีกลางโอนเข้าธนาคารสองยอด เป็นการรับเงินซ้ำซ้อน
วิธีแก้ไข ในเดือนกุมภาพันธ์หรือเดือนถัดไป ให้ อปท.ปรับปรุงข้อมูลในระบบสารสนเทศฯ จากการโอนเข้าบัญชี มาเป็นการรับเงินสดแทน เพื่อให้กรมบัญชีกลางโอนเงินมาบัญชีของ อปท. แทนเงินที่ อปท.จ่ายออกไป
และในเดือนกุมภาพันธ์ก็ไม่ต้องจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิ เพราะเขารับในเดือนมกราคมไปแล้วสองยอด แต่ต้องทำความเข้าใจหรือประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิรับทราบด้วย
5. กรณีข้อมูลผู้มีสิทธิเสียชีวิต ทั้งผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ ที่กรมบัญชีกลางส่งตรวจสอบสถานะการมีชีวิตกับกรมการปกครอง และพบว่าผู้มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพเสียชีวิตแล้ว แต่พอ อปท.ตรวจสอบพบว่ายังมีชีวิตอยู่
กรณีแบบนี้ให้ อปท.ดำเนินการบันทึกข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารหลักฐาน แจ้งให้กรมส่งเสริมฯ ทราบ เพื่อที่จะได้ประสานกับกรมบัญชีกลางต่อไป
6. การเรียกเงินคืน กรณีที่กรมบัญชีกลางตรวจพบว่าผู้สูงอายุที่เราจ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้เขานั้น เป็นผู้รับบำนาญ อปท.จะต้องเรียกเงินคืนเพราะผู้สูงอายุนั้นขาดคุณสมบัติในการรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
เมื่อเรียกคืนแล้วให้นำส่งคลัง งบ 63 เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2562 สามารถนำกลับมาบริหารจัดการต่อได้ แต่ในเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไป ให้เป็นไปตามกรมบัญชีกลางกำหนด
7. เมื่อข้อมูลของผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กทม. และเมืองพัทยา ซ้ำซ้อนกัน และกรมบัญชีกลางตรวจพบ จะทำการระงับการจ่ายเงินในเดือนนั้นไว้ก่อน แล้วให้ อปท.ไปตรวจสอบ
หากว่าข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถูกต้องแล้ว ให้ประสานไปกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อแจ้งกรมบัญชีกลางเบิกจ่ายให้ในเดือนถัดไป
8. ข้อมูลในระบบครบถ้วน ถูกต้อง แต่ไม่มีข้อมูลส่งกรมบัญชีกลาง เพื่อจ่ายในเดือนมกราคม 2563 ทำให้ผู้มีสิทธิบางรายไม่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการในเดือนมกราคม 2563
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะดำเนินการโอนงบประมาณของบุคคลที่ไม่ได้รับเงินกลุ่มดังกล่าวให้ อปท.เพื่อเบิกจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิที่ตกหล่นในเดือนมกราคม 2563
9. การเบิกจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ กรณัรับเงินสด เมื่อถึงกำหนดหรือใกล้ถึงกำหนดที่จะต้องจ่ายเงิน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเบิกจ่ายเงินรายได้ตามข้อบัญญัติ หรือเทศบัญญัติไปดำเนินการก่อนได้
แล้วกรมบัญชีกลางจะโอนเงินงบประมาณดังกล่าวเข้าคลังท้องถิ่น ภายในวันที่ 10 ของเดือน
10. การระงับสิทธิกรณีผิดพลาดอื่นๆ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถแก้ไขได้ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และรายงานกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
ดูรายละเอียดในหนังสือตามลิ้งค์ด้านล่างนี้ครับ
หนังสือซักซ้อมการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการแบบ e-payment
ในการเตรียมตัวในเรื่องนี้เราได้เตรียมตัวมานานพอสมควรแล้ว ดูรายละเอียดที่ลิ้งค์ด้านล่างครับ
เตรียมความพร้อมจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุและคนพิการ แบบ e-payment
สรุป
สรุปแล้ว หนังสือฉบับนี้บอกให้เราทราบแนวทางในการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยความพิการว่าต้องทำอย่างไรบ้าง 10 ข้อ ถึงแม้ว่าบางอย่าง บางเรื่องเรายังไม่ทราบแนวทางในการทำงาน แล้วก็ยังไม่มีหนังสือซักซ้อมมา
เราที่ทำงานอยู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ต้องดำน้ำกันไป
ขอบคุณแนวทางจาก ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย) ที่แจ้งแนวทางการทำงานให้พวกเราได้ทราบ แม้ว่าบางครั้งจะมาเร็วกว่าหนังสือสั่งการจนหลายคนกังวลว่าจะไม่ถูกต้อง
แต่ก็พิสูจน์ด้วยกาลเวลาแล้ว #14ปีชมรมพัฒนาชุมชน
นักพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รองประธาน ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย)
ลูกของแม่ และเพื่อนของท่าน
Leave a Reply