การชำระหนี้ โครงการเศรษฐกิจชุมชน ไม่ค่อยมีหนังสือแจ้งแนวทางออกมาสักเท่าไร บางทีเราเลยไม่รู้แนวทางว่าจะต้องทำยังไงบ้าง เราเลยต้องยึดแนวทางหนังสือหารือบ้างอะไรบ้างแบบนี้แหละครับ
เมื่อปี 53 สำนักกฏหมายและระเบียบท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ตอบหนังสือหารือขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยบงที่หารือไปว่า กลุ่มอาชีพที่กู้ยืมเงินไปไม่ยอมนำเงินมาคืนให้ เขาจึงหารือไปว่า จะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไรกับกลุ่ม ตามหนังสือใช้คำว่า
“จึงขอหารือว่า จะมีแนวทางการปฏิบัติอย่างไรกับกลุ่มอาชีพดังกล่าว และจะต้องดำเนินการกับเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร”
ซึ่งสำนักกฏหมายและระเบียบท้องถิ่นพิจารณาข้อหารือแล้ว มีความเห็นว่า
หนึ่ง ประเด็นแนวทางปฏิบัติในการชำระหนี้ การบังคับชำระหนี้ของกลุ่มอาชีพ ให้ปฏิบัติดังนี้
1.หากกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มเกษตรกรผิดนัด ไม่ชำระหนี้ตามสัญญางวดใดงวดหนึ่ง หรือทั้งหมด ให้องค์การบริหารส่วนตำบลเร่งรัดให้กลุ่มอาชีพหรือกลุ่มเกษตรกรชำระหนี้คืนโดยพลัน หากไม่ชำระ หรือชำระไม่ครบถ้วน ให้องค์การบริหารส่วนตำบลตั้งงบประมาณเท่าจำนวนเงินที่ทางราชการเสียหายชดใช้คืน ในทันทีที่มีการตั้งงบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบล
คำว่า “ในทันทีที่มีการตั้งงบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบล” หมายความว่า กลุ่มอาชีพหรือกลุ่มเกษตรกรไม่ยอมจ่ายหนี้ในปีงบประมาณนี้ ต้องตั้งงบประมาณในปีงบประมาณถัดไป
2.ในระหว่างที่กลุ่มอาชีพหรือกลุ่มเกษตรกรผิดนัด ไม่ชำระหนี้ หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้เสียดอกเบี้ย 7.5 %
3.หากกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มเกษตรกรไม่ยอมชำระหนี้ ให้องค์การบริหารส่วนตำบลดำเนินคดีตามกฏหมาย อย่าให้ขาดอายุความ
4.ในกรณีที่องค์การบริหารส่วนตำบลตั้งงบประมาณชดใช้ในส่วนที่ไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มเกษตรกรได้ ถ้าได้รับการชำระหนี้จากกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มเกษตรกร ให้ส่ง (เงิน) คืนเป็นรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบล
สอง ประเด็นที่ว่าจะมีเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาดังกล่าวรับผิดหรือไม่ อย่างไร ในหนังสือบอกความเห็นไว้ว่า
การยืมเงินทุนตามโครงการเศรษฐกิจชุมชน เป็นการทำสัญญาระหว่างภาครัญกับกลุ่มอาชีพในชุมชน (เอกชน) ดังนั้น ความรับผิดในส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ย่อมเป็นไปตามนัยตามมาตรา 10 ประกอบมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
คือ กรณีเจ้าหน้าที่กระทำให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่ หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่นั้น กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
อย่างเช่น เจ้าหน้าที่ทำสัญญากู้ยืมที่มีข้อบกพร่อง หรือไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบกฏหมาย ที่เกี่ยวข้อง อันเป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลไม่สามารถเรียกบังคับชำระหนี้ได้ตามสัญญา
หรือ กรณีทำสัญญาถูกต้องตามระเบียบกฏหมาย แต่ปล่อยให้การฟ้องบังคับชำระหนี้ขาดอายุความ เป็นต้น
สรุปคือ ใครที่มีคำสั่งให้ทำงานนี้ ถ้าหากว่ากลุ่มไม่ใช้หนี้ ต้องฟ้องเพื่อบังคับให้ใช้หนี้ อย่าให้หมดอายุความ
เรื่องของอายุความ ในหนังสือหารือจังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อปี 54 บอกให้ไปดูกฏหมายแพ่งและพานิชย์มาตรา 193/30 และ 193/33 ซึ่งเมื่อไปเปิดดูมาตราพวกนี้เขาบอกไว้ว่า
มาตรา 193/30 อายุความนั้น ถ้าประมวลกฏหมายนี้ หรือกฏหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี
มาตรา 193/33 สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี
(1) ดอกเบี้ยค้างชำระ
(2) เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ
เป็นยังไงบ้างครับ การชำระหนี้ โครงการเศรษฐกิจชุมชน ที่ผมนำมาเล่าให้ฟัง จุดใหญ่ใจความอยู่ที่ เราต้องทำไงเมื่อเขาไม่ยอมใช้หนี้ เท่านั้นเองครับ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
หนังสือหารือโครงการเศรษฐกิจชุมชน
นักพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รองประธาน ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย)
ลูกของแม่ และเพื่อนของท่าน
Leave a Reply