ผู้สูงอายุย้ายภูมิลำเนา การรับเงินเบี้ยยังชีพที่เก่าที่ใหม่มีปัญหาอีกแล้ว

ผู้สูงอายุย้ายภูมิลำเนา  มีปัญหาอีกแล้วครับท่าน  มีปัญหาเหมือนกับคราวระเบียบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปี 52 ออกมาใหม่ๆ นั่นแหละครับ  และคราวนี้ก็เหมือนๆ กันกับคราวก่อนๆ นั่นแหละครับ  เป็นผู้สูงอายุที่มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอย่างเดียว  ย้ายปลายทางจาก  อบต.หนึ่ง  มาที่  อบต.สอง  อบต.หนึ่งก็รู้นะครับว่าย้าย  แต่ไม่แจ้ง  อบต.สอง  ทราบ  และน่าจะไม่แจ้งตัวผู้สูงอายุด้วย  แล้วพอถึงเดือนกันยายน  2560  อบต.หนึ่ง  ก็จ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุท่านนี้เป็นเดือนสุดท้ายเลยเกิดเรื่องขึ้นมา

ผู้สูงอายุย้ายภูมิลำเนา เรื่องของเรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ

ผู้สูงอายุย้ายภูมิลำเนา

ผู้สูงอายุย้ายภูมิลำเนา มีเคสหนึ่งให้ศึกษา

ผู้สูงอายุที่รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่แล้วท่านหนึ่ง  ย้ายภูมิลำเนาจาก  อบต.หนึ่ง  มาอยู่ที่  อบต.สอง  เมื่อวันที่  27  มิถุนายน  2560  ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคม  2560  ที่ผ่านมา  อบต.หนึ่ง จะต้องรู้ว่าตาคนนี้ย้ายเพราะการตรวจสอบสถานะที่พวกเราทำกันเป็นประจำทุกปี

เมื่อรู้  อบต.หนึ่ง  จะต้องแจ้งตาคนนี้ว่า  ให้ไปลงทะเบียนที่  อบต.สอง  นะภายในเดือนพฤศจิกายน  2560  นี้  และแจ้ง  อบต.สอง  ว่ามีคนแก่รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุย้ายไปอยู่ในพื้นที่ของท่านนะ  ให้ท่านไปแจ้งให้เขามาลงทะเบียน  แล้ว  อบต.หนึ่ง  ยังคงต้องจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้ตาคนนี้ต่อไปอีก  1  ปีงบประมาณ  เพราะเงินงบประมาณของปีงบประมาณ  2561  เขา (กรมส่งเสริม) โอนมาให้  อบต.หนึ่ง  อยู่  งงมั้ยแอร์

อ่าน  การแสดงตนเพื่อรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปีงบประมาณ  61  ประกอบ

ทำไม อบต.หนึ่งถึง (เข้าใจผิดว่า) ต้องจ่ายเบี้ยถึงเดือนกันยายน 60

ผู้สูงอายุย้ายภูมิลำเนา

ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  พ.ศ.  2552  และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)  พ.ศ.  2560  ข้อ  8  บอกว่า

“ผู้สูงอายุใดที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่  ต่อมาผู้สูงอายุนั้นได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น  ให้ผู้สูงอายุนั้นไปลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยตนเองต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่  นับตั้งแต่วันที่ย้ายแต่ไม่เกินเดือนพฤศจิกายนของปีนั้น ๆ  ทั้งนี้  ให้ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่ในปีงบประมาณถัดไป  โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิมที่จ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุนั้นทราบเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน  ทั้งนี้  ในระหว่างปีงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิมที่จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่  ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นยังคงจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไปจนกว่าจะสิ้นปีงบประมาณ”

ไอ้ข้อความสุดท้ายนี่แหละครับ

ข้อความที่ว่า  “…ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นยังคงจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไปจนกว่าจะสิ้นปีงบประมาณ”  นี่แหละครับที่ทำให้  อปท.หนึ่งจ่ายเบี้ยยังชีพถึงเดือนกันยายน  2560  แล้วก็หยุดจ่าย  เพราะเดือนกันยายน  2560  เป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ  2560

แต่ท่านครับ  ในตอนที่ผู้สูงอายุท่านนี้ย้ายมาที่  อปท.สอง  นั้น  ระเบียบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปี  60  ยังไม่ประกาศใช้  หรือถึงแม้จะประกาศใช้แล้วผมและนักพัฒน์หลายคนก็พอคาดเดาออกนะครับว่า  ท่านอาจจะไม่ไปติดต่อขอลงทะเบียนก็เป็นได้  ทีนี้พอระเบียบนี้ประกาศใช้  ตาคนนี้แกไปยื่นลงทะเบียนภายในเดือนพฤศจิกายน  2560  นี้ (อาจจะก่อนเดือนพฤศจิกายน 60 ตามระเบียบ)  นั่นคือแกยื่นขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปีงบประมาณ  2562  คือเริ่มรับเงินเดือนตุลาคม  2561  นะครับ  ไม่ใช่งบ  61  เงินงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของปีงบ  2562  กรมจะต้องส่งมาให้  อปท.  ที่แกไปลงทะเบียน  ซึ่งก็คือ  อบต.สอง  เพราะฉะนั้น  ปีงบประมาณ  2561  อบต.หนึ่ง  ถึงต้องจ่ายต่อไปตามระเบียบที่บอกว่า  “…จนกว่าจะสิ้นปีงบประมาณ”  ถึงแม้ว่าตาคนนี้จะย้ายออกนอกพื้นที่แล้ว  เพราะเงินงบประมาณของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของปีงบประมาณ  2561  ส่งมาที่  อบต.หนึ่ง

เข้าใจคำว่า  “…จนกว่าจะสิ้นปีงบประมาณ”  หรือยังครับ

ถ้ายังไม่เข้าใจไปดูหนังสือฉบับนี้กันครับ

ผู้สูงอายุย้ายภูมิลำเนา

หนังสือกระทรวงมหาดไทย  ที่ มท 0891.3/ว 2500  ลงวันที่  20  สิงหาคม  2553  เรื่อง  แนวทางการปฏิบัติในการจ่ายเงินตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552  และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยความพิการให้คนพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2553  บอกไว้ในแนวทางปฏิบัติข้อ  4  ว่า

“เมื่อเริ่มต้นปีงบประมาณ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการจัดสรรงบประมาณของปีงบประมาณแล้ว  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องดำเนินการจ่ายเงินตามวิธีที่กำหนด  ด้วยเงินสด  หรือเงินโอนผ่านบัญชีธนาคาร  ตามความประสงค์ของผู้รับเงินทุกเดือน  ภายในวันที่  10  ตลอดทั้งปีงบประมาณตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรายงานขอให้ผู้มีสิทธิ  แม้ว่าผู้มีสิทธิจะได้ย้ายทะเบียนบ้านออกไปแล้ว  เนื่องจากได้ใช้ชื่อบุคคลนั้นของบประมาณเป็นการล่วงหน้ามาแล้ว”

ผู้สูงอายุย้ายภูมิลำเนา

มีหลายคนถามมาแล้วผมตอบไปแบบนี้แหละ  เขาเหล่านั้นบอกว่า  ระเบียบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเปลี่ยนเป็นของปี  60  แล้วไม่รู้เหรอ  ผมรู้แล้วล่ะครับ  วันนี้เลยนำภาพระเบียบข้อ  8  มาให้ดูเปรียบเทียบกันว่าหลักๆ แล้วข้อความในข้อนี้บอกว่ายังไง

โหลดหนังสือ ว 2500 ได้ที่นี่

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.