พรบ.ข้าว เพื่อชาวนาจริงหรือไม่ – กฎหมายข้าว ว่ากันว่า ผู้ร่างต้องการแก้ปัญหาของชาวนาที่ประสบปัญหาการขาดทุนสูงในการทำนาแต่ละปี และคนรุ่นใหม่ๆ ไม่มีแรงจูงใจในการทำอาชีพนี้ ร่างกฎหมายนี้จึงต้องการให้มีนโยบายและหน่วยงานที่สนับสนุนส่งเสริมกระบวนการผลิตและจำหน่าย เพื่อให้เกิดการยั่งยืน
พรบ.นี้ผ่านวาระที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา แล้วก็มีการเล่าและแชร์กันมาว่า เมื่อ พรบ.ฉบับนี้ผ่านออกมาเป็นกฎหมาย มันไม่ได้เป็นผลดีกับชาวนา เป็นผลเสียอย่างหนักกับชาวนาด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณี ชาวนาไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้เพาะปลูกในปีต่อๆ ไปได้
พรบ.ข้าว เพื่อชาวนาจริงหรือไม่
เพื่อให้มองเห็นภาพ ผมได้นำภาพประกอบเป็นร่าง พรบ.ข้าวและนำข้อมูลการวิเคราะห์ของอาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากที่อาจารย์ได้โพสไว้ในเฟชบุ๊คส่วนตัว Decharut Sukkumnoed มาให้ท่านได้พิจารณาดูครับ
“พรบ. ข้าว ไล่ไปทีละประเด็น คราวนี้ สนช. แก้ไขร่างมาแล้ว ผมจะนำเสนอจากร่าง พรบ.ข้าวฉบับใหม่ที่จะเข้าพิจารณาในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ครับ
หนึ่ง ประเด็นเรื่องที่ดินเช่า ซึ่งไม่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 26 ของร่างเดิม ในร่างใหม่ มีการเติมบทนิยามของคำว่า ที่นา ไว้ในมาตรา 3 ให้รวมการครอบครองตามกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการเช่าด้วย แต่ต้องมีสัญญาเช่าเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงมีผู้เช่าจำนวนมากที่ไม่สัญญาเช่า ซ้ำร้าย นิยามใหม่นี้ ยังไม่ครอบคลุมถึงที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิและยังไม่ได้รับความยินยอมจากราชการ
พูดง่ายๆ ก็คือ เอา พรบ. นี้มาบีบ พี่น้องที่มีที่ดินอยู่ในข้อพิพาทของราชการอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งที่ ประเด็นเรื่องเมล็ดพันธุ์กับข้อพิพาทในที่ดิน ไม่ได้เกี่ยวกันโดยตรงเลย
สอง นิยามคำว่า “จำหน่าย” ในมาตรา 3 ได้รวมคำว่า “แลกเปลี่ยน” ไว้ด้วย ซึ่งแปลว่า การแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวของเกษตรกร ก็อาจจะเข้าข่ายผิดด้วย แม้ว่า ในตอนท้ายของวรรคนี้จะกำกับไว้ว่า “เพื่อประโยชน์ทางการค้า” แต่ในความเป็นจริงก็คงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจทำให้พี่น้องที่แลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กันผิดกฎหมายนี้ได้
สาม มาตรา 26 ที่เคยเป็นปัญหาเดิม และเป็นต้นเหตุที่มีการกล่าวว่า ชาวนาอาจต้องถูกจำคุกหรือปรับนั้น ในร่างนี้ สนช. ตัดออกทั้งมาตรา แต่เอาไปแฝงไว้ในมาตรา 27/4 แทน
สี่ มาตรา 27/4 นั้นบอกว่า ในการควบคุมและกำกับเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวจะใช้ พรบ. พันธุ์พืชแทน เพียงแต่ในส่วนที่เกี่ยวกับข้าว ให้โอนอำนาจจากกรมวิชาการเกษตรไปกรมการข้าวแทน
พอไปเปิดดูใน มาตรา 14 ของ พรบ. พันธุ์พืช ก็พบข้อความในลักษณะเดียวกับมาตรา 26 เดิม ก็คือ ห้ามมิให้ผู้ใดรวบรวม ขาย (คำว่าขาย รวมคำว่าแลกเปลี่ยนด้วย) เมล็ดพันธุ์ควบคุม (ข้าวเป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุม) โดยมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสี่พันบาท (มาตรา 56)
พี่น้องชาวนาที่รวบรวม และแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวจึงอาจมีความผิดตามมาตรา 27/4 และถูกลงโทษตามมาตรา 14 ของ พรบ. พันธุ์พืช ครับ
ห้า มาตรา 27/2 ที่ระบุว่า การช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน จะรับรองสิทธิได้การรับความช่วยเหลือ เฉพาะเกษตรกรที่ใช้เมล็ดพันธุ์ที่กรมการข้าวรับรอง และใช้พันธุ์ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดในแต่ละเขต อาจเป็นการจำกัดสิทธิของเกษตรกรที่ใช้พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน หรือพันธุ์ข้าวอื่นๆ และมีการหาตลาดได้เองนอกเหนือจากที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนด
กล่าวโดยสรุป ผมยังรู้สึกน่าเป็นห่วง และต้องติดตามใกล้ชิดขึ้นกว่าเดิม”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับ พรบ.ข้าวที่นี่
ติดตามข้อมูลข่าวสาร งานสวัสดิการสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ที่นี่ทุกวัน #ล้านเล่าชาวพอชอ
นักพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รองประธาน ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย)
ลูกของแม่ และเพื่อนของท่าน
Leave a Reply