
ลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2565 มีหนังสือซักซ้อมออกมาแล้วนะฮาฟ รู้หรือยัง
หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.6/ว 5752 ลงวันที่ 25 กันยายน 2563 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 หนังสือนี้ลงเว็บไซต์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา
ท่านสามารถตรวจสอบดูหนังสือได้ที่ หนังสือราชการกรมส่งเสริม




เพื่อให้การรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามแนวทางการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประจำปีงบประมาณ 2565 อย่างนี้ครับ
ข้อหนึ่ง การรับลงทะเบียนผู้สูงอายุ เพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพในปีงบประมาณ 2565 รับลงทะเบียนสองช่วงเหมือนเดิมคือ ช่วงที่หนึ่งคือ เดือนตุลาคม และเดือนพฤศจิกายน 2563 ช่วงที่สองคือเดือนมกราคม ถึงเดือนกันยายน 2564
แนะนำ ให้พวกเราตามผู้สูงอายุที่มีสิทธิมาลงทะเบียนให้เสร็จในเดือนตุลาคม 2563 นี้ครับ หรืออย่างช้าให้เสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2563
โดยผู้ที่มีสิทธิในการลงทะเบียนคือ ผู้สูงอายุที่ยังไม่เคยลงทะเบียนมาก่อน และเป็นผู้ที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว และผู้ที่จะ (จะนะครับ จะ) มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ในปีงบประมาณ 2565 นับอายุถึงวันที่ 1 กันยายน 2564 คือผู้สูงอายุที่เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2505 หรือเกิดระหว่างวันที่ 2 กันยายน 2504 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2505 นั่นเองครับ
ทำไมถึงบอกว่า เป็นผู้สูงอายุที่เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2505 ก็เพราะว่าผู้ที่เกิดวันที่ 2 กันยายน 2505 ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2505 เขาจะมีสิทธิรับเงินในเดือนถัดไปจากที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ นั่นคือจะได้รับในเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งมันเป็นปีงบประมาณ 2566 แล้ว
เพราะฉะนั้น กลุ่มนี้ (ผู้ที่เกิดระหว่างวันที่ 2 กันยายน ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2505) ต้องไปลงทะเบียนในเดือนตุลาคม 2564




นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องไปลงทะเบียนในช่วงเวลาเดือนตุลาคม 2563 นี้ ยังมีผู้สูงอายุที่ย้ายเข้ามาในพื้นที่ของเราด้วย ซึ่งตามระเบียบเบี้ยยังชีพฉบับที่ 2 ปี 2560 บอกไว้ว่า ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพจาก อปท.หนึ่ง ต่อมาย้ายไปอยู่อีก อปท.หนึ่ง ให้ผู้สูงอายุนั้นไปลงทะเบียนที่ อปท.แห่งใหม่ นับแต่วันที่ย้าย แต่ไม่เกินเดือนพฤศจิกายนของปีนั้น
และให้ได้รับเงินจาก อปท.แห่งใหม่ในปีงบประมาณถัดไป ถ้าไม่เข้าใจให้ไปอ่านเรื่อง การย้ายภูมิลำเนาของผู้สูงอายุ ก่อนนะครับ เพื่อความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
การมาลงทะเบียนของผู้สูงอายุ จะต้องมาลงทะเบียนด้วยตนเองนะครับ แต่ถ้ามาไม่ได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ ให้ทำหนังสือมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษร มอบอำนาจให้ผู้อื่นลงทะเบียนแทนก็ได้ ถ้าหากว่าผู้สูงอายุติดคุก หรืออยู่ในเรือนจำ ก็ให้ผู้สูงอายุนั้นมอบอำนาจให้ผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถาน หรือเจ้าหน้าที่ที่ผู้บัญชาการเรือนจำมอบหมาย และถือเอาวันที่ลงทะเบียนในแบบเป็นวันลงทะเบียน
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
เอกสารหลักฐานมีอะไรบ้าง และการรับเงินมีกี่วิธี
เอกสารหลักฐานประกอบการลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประจำปีงบ 2564 เพื่อรับเงินในปีงบ 2565 นั้น เหมือนเดิมกับที่เคยปฏิบัติกันมานั่นแหละครับ คือ
1.บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
2.ทะเบียนบ้าน
3.สมุดบัญชีธนาคาร ในกรณีที่ผู้ขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมีความประสงค์ขอรับเงินผ่านทางธนาคาร
ซึ่งการรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ มีวิธีการอยู่ 4 วิธี คือ
1.รับเงินสดด้วยตนเอง
2.รับเงินสดโดยการมอบอำนาจให้ผู้อื่นมารับแทน
3.โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้มีสิทธิ
4.โอนเงินเข้าบัญชีของผู้ที่ผู้มีสิทธิมอบอำนาจให้รับผ่านธนาคารแทน




แล้วถ้ามีผู้สูงอายุย้ายล่ะ ต้องทำยังไงบ้าง
ในหนังสือฉบับนี้บอกไว้ว่า ถ้ามีผู้สูงอายุย้ายภูมิลำเนาไปยังที่อื่น ให้ อปท.เดิมแจ้งให้ผู้สูงอายุไปลงทะเบียนภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 และ อปท.ใดที่จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่ ก็ให้จ่ายต่อไปจนสิ้นสุดปีงบประมาณ คือเดือนกันยายน 2564 ส่วน อปท.แห่งใหม่ที่รับลงทะเบียนก็จะจ่ายต่อในปีงบหน้า
แล้วถ้าหากว่า ผู้สูงอายุย้ายออกไปแต่ไม่ไปลงทะเบียนในที่แห่งใหม่ล่ะ จะทำยังไง (คือไม่ทันในเดือนพฤศจิกายน 2564 อ่ะ) ก็ต้องบอกว่า ผู้สูงอายุท่านนั้นไม่มีสิทธิ หรือเสียสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายถไป 1 ปี นั่นแหละครับท่านผู้อ่าน




การจัดทำประกาศรายชื่อ
เมื่อมีผู้มาลงทะเบียนในแต่ละเดือน ให้เราทำประกาศรายชื่อรายเดือน อาจจะลงวันที่เป็นวันทำการสิ้นเดือน แล้วปิดประกาศให้สาธารณชนทราบภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป หรือเอาแบบง่ายๆ ประกาศลงวันที่ทำการวันสุดท้ายของเดือนนั้น แล้ววันทำการต่อไปของเดือนใหม่ ปิดประกาศเลย ก็ได้ง่ายดี
เสร็จแล้ว ทำประกาศรายปีในเดือนกันยายน 2564 ลงวันที่ 30 กันยายน 2564 แล้ววันที่ 1 ตุลาคม 2564 ก็ปิดประกาศให้ทราบโดยทั่วกันเพื่อจะจ่ายเงินเบี้ยยังชีพในปีงบประมาณ 2565 ต่อไป
หลักๆ ก็จะประมาณนี้แหละครับ ถือว่าบันทึกไว้อ่านในปีหน้าละกันครับ แล้วค่อยมาว่ากันใหม่ สวัสดีครับ