เด็กแรกเกิด ปรากฏการณ์ 17 สิงหาคม 2565

เด็กแรกเกิด

เด็กแรกเกิด ที่ทางตัวแทนชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในแต่ละจังหวัด ได้เข้าร่วมประชุมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดสู่ระบบดิจิทัล ในรุ่นที่ 2 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ทาง Zoom นั้น

เกิดปรากฎการณ์ เด็กแรกเกิด ท่วมหน้าเฟสเลยครับ

เรื่องของเรื่องคือ กรมกิจการเด็กและเยาวชน ออกระเบียบกรมกิจการเด็กและเยาวชน ว่าด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด พ.ศ 2565 ออกมา ฉบับนี้เป็นฉบับใหม่นะครับ เพราะว่าเขายกเลิกระเบียบปี 2562 และ 2563 ไปเลย

ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นการประชุมแบบออนไลน์นั้น น่าจะมีการตอบคำถามและข้อเรียกร้องของท้องถิ่นไม่ได้ล่ะครับ เพราะคนทำงานที่อยู่ในพื้นที่เขารู้ว่า พื้นที่ของเขาเป็นอย่างไร

เด็กแรกเกิด ระเบียบใหม่หนักใจทั้งเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน

ในการยื่นคำร้องลงทะเบียน ให้ไปยื่นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อบต. เทศบาล ที่เด็กได้พักอยู่ ไม่จำเป็นต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านนะ และเจ้าหน้าที่นำข้อมูลเข้าสู่ระบบโดยดึงข้อมูลจากเครื่องอ่านบัตรประชาชนเท่านั้น บันทึกเองไม่ได้

ถึงแม้นว่า จะมีการยื่นคำร้องผ่านแอปได้ ก็ต้องลงแอปในมือถือ 2 แอป คือ แอป D.DOPA ของกรมการปกครอง เพื่อใช้ยืนยันตัวตน แล้วก็ในการยืนยันตัวตนนั้นต้องมีการพิสูจน์ตัวตนก่อนครั้งแรก ณ ที่ว่าการอำเภอ

อีกแอปหนึ่งคือ แอปเงินเด็ก เพื่อลงทะเบียน และสแกนเอกสารเป็นไฟล์ PDF แล้วส่งไปให้ พมจ. ถ้า อปท. ไหนไม่มีเครื่องสแกนให้ใช้วิธีถ่ายรูป

การยื่นคำร้องลงทะเบียนเด็กแรกเกิด ถ้ายื่นผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. หรือ เทศบาล มันยุ่งยากที่ต้องใช้เครื่องอ่านบัตรเท่านั้น กรอกแบบเดิมไม่ได้

เริ่มกันตั้งแต่ ชาวบ้านผู้ปกครองที่จะลงทะเบียนต้องมาด้วยตนเอง เพราะต้องถือบัตรประชาชนมาด้วย เพื่อเสียบบัตรกับเครื่องอ่านบัตร ให้ท่านหลับตานึกถึง อบต. ที่อยู่บนดอย หรืออยู่เกาะกลางทะเลสิครับ

เขามาถึง อบต. เทศบาล เขาไม่ได้ลงทะเบียนเลยนะ เขาต้องนำแบบลงทะเบียน ดร.01 กลับไปให้ อสม. อพม. หรือ ผู้ใหญ่บ้าน รับรองว่า เขาอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน อาศัยอยู่ในชุมชนจริงๆ แล้วเขาต้องกลับมาที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกครั้งหนึ่ง

คิดดูสิครับว่า ถ้าคนที่อยู่บนดอย คนที่อยู่เกาะ มาลงทะเบียน เขาจะสิ้นเปลืองพลังงานเยอะขนาดไหน

รอบแรก ลงมาเพื่อขอเอกสาร ดร.01 แล้วกลับไปกรอกเอกสาร (ถึงกรอกที่ อบต. ก็ต้องถือกลับไปให้ อสม. อพม. ผู้ใหญ่บ้านรับรองเหมือนเดิม) หาผู้รับรอง คนที่มีคนในครัวเรือนทำงานต้องเพิ่มใบรับรองเงินเดือนด้วย

แล้วกลับมายื่นเรื่องที่ อบต. เทศบาล เพื่อที่จะเสียบบัตรประชาชนเท่านั้น บันทึกในระบบ แล้วการจ่ายเงินต้องผูกพร้อมเพย์เลขบัตรเท่านั้นด้วย

ทั้งที่แบบเดิม ไม่ต้องเสียบบัตรประชาชน มันก็สะดวกดีอยู่แล้ว ถามว่า เมื่อผู้ปกครองที่มาเองไม่ได้ ฝากบัตรประชาชนมากับคนอื่น เจ้าหน้าที่เขาจะกล้าทำให้มั้ย บางคนบอกว่า ก็ลงทะเบียนผ่านแอปไง

ลงทะเบียนผ่านแอป ต้องลงแอปสองแอป คือ แอปเงินเด็ก เพื่อลงทะเบียน และแอป D.DOPA เพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตน ซึ่งการยืนยันตัวตนครั้งแรกต้องไปทำที่อำเภอเท่นนั้น ทำครั้งแรกผ่านแอปเลยไม่ได้

และท่านคิดว่าชาวบ้านจะดำเนินการได้เรียบร้อยดีเหรอครับ ถ้าไม่มีลูกหลานทำให้

ชาวบ้านจะถือโทรศัพท์มือถือมาหาเจ้าหน้าที่ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. เทศบาล ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการให้ ซึ่งไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ ถ้าลงทะเบียนได้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็ทำการตรวจสอบการลงทะเบียน แล้วก็ให้ยืนยันเมื่อเห็นว่าข้อมูลถูกต้อง อันนี้ล่ะที่อันตรายมากๆ

สรุปแล้วกรมเด็กคงไม่ยกเลิกหรอกครับ

ผมเชื่อว่า กรมกิจการเด็กและเยาวชนคงไม่ยอมยกเลิกระเบียบนี้หรอกครับ ไม่ว่านักพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะโพส Facebook ท่วมหน้าจอยังไงเขาก็ไม่สนหรอกครับ เพราะที่ผ่านมาพวกเราเคยทักท้วงเคยแนะนำเคยบอกหลายต่อหลายครั้ง แต่เขาก็ไม่สนใจอะไรเลย

และการเชิญประชุม เหมือนเป็นการทำให้ครบกระบวนการเท่านั้นเองครับ ในขณะที่เชิญเราประชุม แจ้งเราว่าระเบียบยังไม่ประกาศในราชกิจจา แต่วันเดียวกันนั้นราชกิจจาประกาศออกมาละ

ศาลปกครอง ที่พึ่งสุดท้ายของเราครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำอะไรบ้าง

โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.