เบี้ยผู้สูงอายุ แบบพิสูจน์ความจน นี้ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมาเป็นวันที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้
ซึ่งเรื่องทีถูกพูดถึงมากที่สุดคือ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่ระเบียบฉบับใหม่นี้บอกไว้ในข้อ 6 (4) เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฏหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด
ในขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดออกมานะครับ ในระเบียบมีบทเฉพาะกาลไว้ว่า ให้เราใช้คุณสมบัติตามระเบียบฉบับเดิมไปก่อน
ไอ้เพราะว่าคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติยังไม่กำหนดออกมานี่แหละ เราเลยเดากันไปว่า มันน่าจะมีแนวทางอะไรสักอย่างออกมาที่จะไม่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปวดหัวอีก
โพสนี้เลยจะมาเล่าให้ฟังว่า ก่อนระเบียบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับปี 2552 ออกมา เรามีวิธีคัดเลือกคนยังไงมาเล่าให้ฟังครับ
ปี 2548 เราใช้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 ซึ่งกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิไว้คล้ายๆ ระเบียบฉบับปัจจุบันนี้แหละครับ นั่นคือ
“มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ หรือถูกทอดทิ้ง หรือขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู หรือไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้”
ซึ่งวิธีการเลือกคนมารับในตอนนั้นคือ การจัดเวทีประชาคมเพื่อคัดเลือกคนและจัดลำดับว่าใครจนมากสุดใครจนน้อยสุด ชาวบ้านที่ไม่ถูกจัดลำดับในลำดับต้นๆ มักจะบอกว่า เป็นเพราะตัวเองไม่ได้เป็นญาติผู้นำหมู่บ้าน เลยไม่ได้เป็นคนจนที่สุด
ในตอนนั้นรับเงิน 500 บาทต่อเดือน ก่อนหน้านั้น 300 บาทต่อเดือน ขออภัยที่ผมจำปี พ.ศ. ไม่ได้
เกิดคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนดคุณสมบัติมาคล้ายๆ แบบเดิม ผมว่าคงสนุกแน่ แต่สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคงหัวเราะไม่ออก เบี้ยผู้สูงอายุ แบบพิสูจน์ความจน
แล้วผมยังจินตนาการต่อว่า เกิดคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนดมาว่า ผู้สูงอายุที่จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต้องมีบัตรคนจน อ้าวตายเลย คนจนจริงๆ ตกหล่นหลายรายนะครับ
เพราะส่วนมากผู้สูงอายุยังไม่โอนทรัพย์สินประเภทที่ดิน ที่นา ไร่ อะไรต่างๆ เหล่านี้ไปให้ลูกหลาน เลยทำให้รัฐมองว่า ไม่ใช่คนจน จึงไม่ได้รับบัตรคนจน
ถ้าจะบอกว่า รายได้ต่ำกว่าเดือนละ 3,000 หรือ 100,000 บาทต่อปี จะวัดยังไง คิดแล้วปวดหัวนะกับ เบี้ยผู้สูงอายุแบบพิสูจน์ความจน
งานนี้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติต้องคิดดีๆ แล้วนะครับ เพราะเมื่อระเบียบฉบับเดิมบอกไว้ว่า ผู้ที่ได้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ ไม่มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
พอองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจพบ แล้วเรียกเงินคืน ท่านกลับบอกว่า จ่ายคืนให้เขาเถอะ
จำกันได้ใช่มั้ยครับ ที่เป็นข่าวดังๆ ที่คนแก่โวยวายว่าไม่มีเงินจะคืนหรอก ยอมติดคุกดีกว่า จำกันได้ใช่มั้ยครับ คณะกรรมการผู้สูงอายุก็ให้คืนเขาไปตามมติ ครม. ไง
ตอนนี้พวกเรา นักพัฒนาชุมชนที่ทำงานอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รอแล้วกันครับ รอคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะกำหนดหลักเกณฑ์ออกมา แล้วเราค่อยมาว่ากันอีกที
บทความที่เกี่ยวข้อง
ระเบียบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่ 2566
ระเบียบเบี้ยผู้สูงอายุแต่ละฉบับเป็นอย่างไร
นักพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รองประธาน ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย)
ลูกของแม่ และเพื่อนของท่าน
Leave a Reply