เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2565 ต้องพูดถึงวิธีการลงทะเบียน แต่ก่อนที่จะพูดถึงวิธีลงทะเบียนเรามาทบทวนกันก่อนว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมีความเป็นมาอย่างไร ทำไมถึงมาอยู่ในจุดที่เราเห็นอยู่นี้
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คืออะไร
ก่อนหน้านี้นานมาก (กอไก่ล้านตัว) พวกเรานักพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมักจะเรียกว่า เงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพ เงินนี้ไม่ได้ให้ผู้สูงอายุทุกคนเหมือนตอนนี้นะ ให้คนที่อายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (แน่นอนว่าต้องมีสัญชาติไทยด้วย) ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ที่สำคัญคือ มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ หรือถูกทอดทิ้ง หรือขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู หรือไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ ถ้าเกิดคุณสมบัติเบื้องต้นพวกนี้เหมือนกัน ต้องให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนกว่า
วิธีการพิจารณาผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์ในสมัยก่อน
อันดับแรกเลยคือ สำรวจรายชื่อผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติตามที่ผมบอกไว้ข้างต้นมาทำเป็นบัญชีรายชื่อไว้ในแต่ละหมู่บ้าน แล้วก็จัดประชุมประชาคมหมู่บ้านพิจารณาว่าใครสมควรอยู่ในลำดับแรกที่สมควรได้รับเงินสงเคราะห์ คนที่อยู่ลำดับแรกนี้คือคนที่ลำบากสุด ยากจนสุดล่ะ
เสร็จแล้วนำรายชื่อนี้มาปิดประกาศที่ อปท. 15 วัน ถ้าไม่มีผู้คัดค้านก็ทำบันทึกเสนอนายกอนุมัติให้ได้รับเงินสงเคราะห์ต่อไป (ที่เราได้ยินมาว่า เมื่อก่อนคนรับเบี้ยมักจะป็นญาติผู้ใหญ่บ้าน สาเหตุน่าจะมาจากการประชาคม…อันนี้คาดว่านะ)
ใครบ้างที่มีสิทธิ์ได้รับเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
คนที่มีสิทธิได้รับเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปีงบประมาณ 2565 คือ คนที่มีสัญชาติไทย มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามทะเบียนบ้าน มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ที่ได้ลงทะเบียนยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ (ถึงจะมีคุณสมบัติข้ออื่นครบ แต่ไม้ได้ยื่นคำขอไว้ก็จ่ายให้ไม่ได้ ถือว่าไม่ประสงค์จะรับ)
และที่สำคัญคือ ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พวก บำนาญ บำนาญพิเศษ (ที่กำลังเป็นปัญหาว่าจะคืนหรือไม่คืนก็ตัวนี้แหละ) เบี้ยหวัด หรือเงินอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกันนี้ครับ
ผู้ที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐ (ปัจจุบันมีน้อยแล้ว) ผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2565 ใครลงทะเบียนได้บ้าง
ผู้ที่สามารถมาลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประจำปีงบประมาณ 2565 ได้คือ ผู้ที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ 2565 หรือเป็นผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2505 (ย้ำว่าเกิดก่อนนะครับ ไม่ใช่ว่าเกิด 2505 แล้วมาลงทะเบียนหมด) แล้วก็ผู้สูงอายุที่ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาใหม่ก่อนสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563
ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ที่ไหน
ผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ 2565 (นับถึงวันที่ 1 กันยายน 2565 หรือ เกิดก่อน 2 กันยายน 2505) รวมถึงผู้สูงอายุที่ย้ายทะเบียนบ้านมาใหม่ก่อนสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ให้ไปยื่นความจำนงขอลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประจำปีงบประมาณ 2565 ได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต./เทศบาล) ที่ตัวเองมีชื่อในทะเบียนบ้าน
ช่วงเวลาการลงทะเบียนในการรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประจำปี 2565
ลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม เดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมาแล้วครับ เว้นเดือนธันวาคมเพื่อคีย์ข้อมูล และรับลงทะเบียนเดือนมกราคมจนถึงเดือนกันยายน 2564 ที่จะถึงนี้ แต่ผมแนะนำให้ไปลงทะเบียนตอนนี้เลย เพื่อเจ้าหน้าที่เขาจะได้คีย์ข้อมูลเพื่อขอรับงบประมาณ
เอกสารที่ต้องเตรียมมาในการลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
เอกสารที่ต้องนำมาประกอบเป็นหลักฐานในการลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคือ
1.บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย
2.ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน (ที่ปรับข้อมูลเป็นปัจจุบัน)
3.สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ ในนามผู้มีสิทธิ หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีสิทธิ
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2565 ขอจบด้วยลักษณะนี้
หนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง
ซักซ้อมการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฯ ประจำปีงบ 2565
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2565 ต้องทำยังไง
นักพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รองประธาน ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย)
ลูกของแม่ และเพื่อนของท่าน
Leave a Reply