โครงการเศรษฐกิจชุมชนตอนที่สอง มีขั้นตอนในการกู้ยืมเงินอย่างไรบ้าง ผมเชื่อว่านักพัฒนาชุมชนที่เพิ่งบรรจุเข้ามา หรือบางคนที่บรรจุนานแล้วแต่ไม่ได้ทำเรื่องพวกนี้อาจจะไม่รู้ไม่ทราบก็ได้ครับ วันนี้ผมจะมาเล่าถึงขั้นตอนในการยื่นเรื่อง ยื่นเอกสารมาขอกู้เงินตามโครงการเศรษฐกิจชุมชนของกลุ่มเกษตรกรหรือกลุ่มอาชีพมาเล่าให้ฟังครับ จากการสรุปตามคำแนะนำของหน่วยตรวจนะครับ ตามมาเลย
โครงการเศรษฐกิจชุมชนตอนที่สอง และขั้นตอนการขอกู้
ผมคงจะไล่ไปตามขั้นตอนทำจริงนะครับ ซึ่งในการดำเนินการจริงชาวบ้านกลุ่มอาชีพ กลุ่มเกษตรกร เขาเขียนลายมือมา ส่วนเราจะพิมพ์หรือใช้แบบนั้นเลยก็แล้วแต่ที่ ส่วนที่ อบต.ผม ผมทำเอกสารให้ใหม่ด้วยการพิมพ์ให้ใหม่ แล้วแนบต้นฉบับแบบลายมือ โครงการเศรษฐกิจชุมชน-2 เข้าไปด้วย
1.รวมกลุ่มและประชุมเลือกกรรมการ
โดยปกติการรวมกลุ่มของชาวบ้านมักจะไม่มากมายอะไรหรอกครับ มีประมาณ 10 คนขึ้นไป อย่างมากสุดก็จะเป็น 20 หรือ 25 คนนี่ล่ะครับ เมื่อรวมกลุ่มกันได้ก็จะจัดการประชุมกลุ่ม เลือกประธาน รองประธาน เลขา หรือกรรมการอื่นอีก ผมกำหนดให้แต่ละกลุ่มไม่เกิน 5 คน เพราะแต่ละกลุ่มมักจะมีสมาชิกประมาณ 10 คนครับ
ขั้นตอนนี้แหละครับที่เราควรทำให้ชาวบ้าน เพราะชาวบ้านเขียนบันทึกการประชุมไม่เป็น พอเขาทำมาเราก็นำมาปรับ แล้วก็พิมพ์ให้ใหม่เลย แล้วค่อยคืนไปให้ประธาน และเลขาลงนาม แล้วก็ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการหมู่บ้าน และจัดเวทีประชาคมเพื่อรับรองว่า สมาชิกกลุ่มที่ขอกู้เงินตามโครงการเศรษฐกิจชุมชน เป็นคนในหมู่บ้านจริงๆ
2.ประชุมประชาคมรับรองกลุ่ม
ในขั้นตอนนี้ ผู้ใหญ่บ้านจะจัดประชุมประชาคมเพื่อรับรองว่า คนที่เป็นสมาชิกของกลุ่มที่ขอกู้เงินเนี่ยเป็นคนในหมู่บ้านของเราจริงๆ ไม่ใช่เอาชื่อคนที่อาศัยอยู่ใน กทม.มาเป็นสมาชิก ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีปัญหาอยู่ตรงรายชื่อคณะกรรมการหมู่บ้าน ที่อำเภอต้องมีหนังสือคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านออกมา ปัญหาที่เจอคือ รายชื่อกับกรรมการที่แจ้งเรามาไม่ตรงกัน
หรือบางอำเภอไม่มีคำสั่งแต่งตั้งเลย คือมีน่ะมี แต่เป็นสมัยโน้นนนนนนน ไม่ใช่ปัจจุบัน ก็ให้เราเอาตามคำสั่งที่มีครับ
3.ยื่นคำร้องขอกู้ต่อ อบต.
ยื่นคำร้องขอกู้เงินตามโครงการเศรษฐกิจชุมชนต่อ อบต. พร้อมทั้งเอกสารประกอบ คือ
3.1 คำร้องขอกู้เงิน
ก่อนจะถึงคำร้อง ก็เป็นใบปะหน้าเรียนนายกองค์การบริหารส่วนตำบล แจ้งความประสงค์ว่า กลุ่มต้องการกู้เงินตามโครงการเศรษฐกิจชุมชนโดยได้แนบเอกสารอะไรมาประกอบบ้าง ลงนามโดยประธานกลุ่ม แล้วให้ลงรับเอกสารไว้ตามระเบียบงานสารบรรณ และในคำร้องต้องระบุไว้ด้วยนะครับว่า จะส่งเงินคืนปีละเท่าไร
แล้วให้ประธานคณะกรรมการหมู่บ้าน และประธานเวทีประชาคม ลงความเห็นมาด้วย ซึ่งโดยปกติทั้งสองคนคือผู้ใหญ่บ้านนั่นแหละครับ
3.2 รายละเอียดโครงการที่ขอกู้
โครงการที่ขอกู้จะมีอยู่ 6 ข้อครับ คือ 1.ชื่อโครงการ 2.วัตถุประสงค์ 3.เป้าหมาย 4.วิธีดำเนินการ 5.ระยะเวลาในการใช้เงินคืน 6.ผลที่คาดว่าจะได้รับ ซึ่งแน่นอนว่า ชาวบ้านเขียนไม่เป็นครับ คงไม่พ้นนักพัฒน์หรอกครับที่จะต้องทำให้ นอกจากนั้นแล้วยังมีรายชื่อสมาชิกกลุ่มแนบไปด้วยนะครับ พร้อมกับคำรับรองกลุ่มของคณะกรรมการหมู่บ้านด้วย
3.3 คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเบิกจ่ายเงินของกลุ่ม
อ้างอิงจากการประชุมของกลุ่มนั่นแหละครับ ทำเป็นคำสั่งกลุ่มแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการเบิกจ่ายเงินของกลุ่ม ทำเหมือนงานราชการเรานี่แหละ
3.4 ระเบียบข้อบังคับของกลุ่ม
นี่ก็เหมือนกันครับ ชาวบ้านทำไม่เป็นหรอก เรานี่แหละครับทำให้ ผมอิงมาจากระเบียบของกองทุน สปสช.ครับ เอามาเป็นบางข้อ ไม่ต้องเยอะมาก ไม่ต้องละเอียดยิบ เอาพอประมาณ ประมาณว่าชาวบ้านทำนะ อะไรแบบนี้ ดูรายละเอียดในเอกสารตัวอย่างด้านท้ายบทความนี้ก็ได้ครับ
3.5 หนังสือมอบอำนาจ
หนังสือมอบอำนาจ เป็นหนังสือที่สมาชิกกลุ่มทุกคน มอบอำนาจให้ประธานกลุ่มเป็นผู้มีอำนาจในการทำธุรกรรมการเงินและรวมถึงเรื่องอื่นๆ ทั้งหลายทั้งปวงแทนสมาชิกลุ่ม
3.6 รายงานการประชุมประชาคม พร้อมรายชื่อผู้เข้าประชุม
รายงานการประชุมผมทำให้ใหม่โดยการพิมพ์ให้ครับ แล้วให้เราแนบที่ชาวบ้านทำมาไปด้วย ไม่เหมือนกันไม่เป็นไรครับ อย่างน้อยก็มีรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมไปด้วย ทั้งการประชุมกลุ่ม และประชุมประชาคม
3.7 สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมบัตรประชาชนของสมาชิกกลุ่ม
เอาทั้งทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชน ให้คบทุกคน และให้ลงชื่อ นามสกุล รับรองสำเนาถูกต้องด้วย
3.8 สำเนาหน้าบัญชีธนาคาร
สำเนาบัญชีธนาคารต้องเป็นฉบับปรับล่าสุด เพื่อจะได้รู้ว่า กลุ่มมีเงนสมทบตามจำนวนที่ระเบียบกำหนด คือสามสิบเปอร์เซนต์
4.จัดประชุมเพื่อพิจารณาอนุมัติ
เมื่อเอกสารถูกต้องครบถ้วน ก็จัดประชุมคณะกรรมการบริหารเงินทุนตามโครงการเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งมีนายก อบต.เป็นประธาน มีประธานสภา มีกำนัน มีผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านที่ยื่นขอ เป็นกรรมการ มีปลัดเป็นเลขา มีคลังเป็นผู้ช่วยเลขา
เมื่อกรรมการอนุมัติแล้ว เราก็นัดกลุ่มให้มาทำสัญญา ขั้นตอนนี้ระมัดระวังนิดหนึ่งครับ เพราะชาวบ้านบางคนชอบลงชื่อใต้ชื่อตัวพิมพ์ของตัวเอง เราต้องชี้ให้ว่าจะต้องลงชื่อที่ไหนอย่างไร สัญญานี้ทำ 4 ฉบับนะครับ ให้กลุ่มไปฉบับหนึ่ง อบต.เก็บไว้หนึ่ง ส่งอำเภอหนึ่ง ส่งจังหวัดหนึ่ง วงเล็บไว้นิดหนึ่งว่า อำเภอบางอำเภอเขาจะงงๆ นะครับ เราต้องอธิบายให้ฟังอีก
5.ส่งเรื่องต่อให้กองคลัง
หลังจากทำสัญญาเสร็จแล้ว เราก็ส่งเรื่องต่อให้กองคลัง เพื่อที่เขาจะได้ดำเนินการในส่วนของเขาต่อไปครับ ซึ่งเมื่อเขาพิจารณาแล้วเสร็จ เขาอาจจะมาบอกเราให้แจ้งกลุ่มที่ยื่นขอมาฟังผล หรือเขาอาจแจ้งกลุ่มเอง แล้วแต่เขาครับ
ทีนี้ หลายคนถามมาว่า แล้วตอนทวงเงินยืมในแต่ละปีล่ะ ใครเป็นคนทวง อันนี้ตอบว่า อยู่ที่เราครับ บางแห่งคลังเป็นคนทวง บางแห่งนักพัฒน์เป็นคนทวง ซึ่งถ้าเป็นกรณีหลังนี้ส่วนมากมักจะมีคลังที่…หน่อย นักพัฒน์เขารำคาญเลยต้องทำเอง
โครงการเศรษฐกิจชุมชน หมู่บ้านละแสน มีความเป็นมายังไง เรียกคืนเงินแบบไหน
ระเบียบโครงการเศรษฐกิจชุมชน ฉบับที่ 2
[embeddoc url=”https://phorchor.com/wp-content/uploads/2021/09/คำร้อง10.pdf”]
นักพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รองประธาน ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย)
ลูกของแม่ และเพื่อนของท่าน
Leave a Reply