การบันทึกข้อมูลเบี้ยยังชีพ ของผู้มีสิทธิรับเงินผู้สูงอายุประจำปี 2563 – ชัดเจนขึ้นอีกระดับหนึ่ง เมื่อกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.6/ว 651 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2563 ออกมา
หนังสือ มท 0810.6/ว 651 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามโครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-payment) เพิ่มเติม และการบันทึกข้อมูลผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพิ่มเติม
หนังสือฉบับนี้ อ้างถึง หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.6/ว 185 ลงวันที่ 20 มกราคม 2563 ที่ออกมาก่อนหน้านี้ครับ
อ่านรายละเอียดหนังสือ 20 มกราคม ได้ที่นี่
หนังสือนี้บอกให้เราบันทึกข้อมูลในระบบสารสนเทศปี 2563 ให้แล้วเสร็จในระหว่างวันที่ 3-25 มีนาคม 2563 แล้วก็บันทึกเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้นนะครับ ส่วนคนพิการมันเป็นข้อมูลในปีปัจจุบันตามการลงทะเบียนอยู่แล้ว
และถ้าบันทึกในปี 2563 แล้วก็ให้บันทึกในปี 2564 (ปัจจุบัน) ด้วย เดี๋ยวเรามาไล่ให้ดูว่า เมนู แต่ละเมนูในหน้าระบบสารสนเทศคืออะไรบ้าง แล้วก็บันทึกย้อนหลังต้องเข้าไปตรงไหน ยังไง แบบไหน มากันเลย
การบันทึกข้อมูลเบี้ยยังชีพ ย้อนหลังและปัจจุบันทำแบบไหน
เราจะมาดูที่เมนู “ผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพ” ทางด้านซ้ายมือก่อนครับ ด้านล่างลงมาจะเป็นเมนู “ค้นหา” ถ้าเราค้นหาผู้สูงอายุที่นี่ จะเป็นผู้สูงอายุที่มีในระบบปี 2564 ซึ่งเป็นหน้าปกติของระบบ (ระบบเปิดขึ้นมาเพื่อลงทะเบียนล่วงหน้าไง)
ถ้าหากว่าเราอยากจะแก้ไขข้อมูลวันเดือนปีเกิดให้ถูกต้อง หรือมีผู้สูงอายุมาแจ้งเปลี่ยนแปลงวิธีรับเงิน ไม่ว่าจะเป็นจากเงินสดไปเป็นโอนเข้าธนาคาร หรือเปลี่ยนจากการโอนเข้าธนาคารมาเป็นรับเงินสด ท่านสาทารถค้นหาด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน ในเมนูค้นหา แล้วคลิกที่แก้ไขเข้าไปเปลี่ยนแปลงได้เลย
แก้ไขที่หน้านี้เรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องเข้าไปแก้ไขในปี 2563 อีกนะครับ
เมนูต่อมาคือเมนู “เพิ่มข้อมูล [ปัจจุบัน]” ก็คือเมนูแก้ไขวันเดือนปีเกิด หรือ แก้ไขวิธีการรับเงินที่ผมพูดไปในย่อหน้าด้านบนตะกี้นี้
เมนูต่อมาคือ “ข้อมูลผู้ได้รับเบี้ยยังชีพย้อนหลัง [2563]” เมนูนี้แหละครับที่เราต้องเข้าไปเพิ่มชื่อผู้สูงอายุที่เราตรวจสอบแล้วพบว่า ผู้สูงอายุรายนี้ไม่มีชื่อในระบบ 2563/09 จะด้วยสาเหตุว่าลืมหรืออะไรก็ตามแต่ เมื่อไม่มีชื่อก็เพิ่มชื่อเข้าไป
โดยเข้าไปที่เมนู ข้อมูลผู้ได้รับเบี้ยยังชีพย้อนหลัง [2563] แล้วก็ไปกดเพิ่มข้อมูล ซึ่งหน้าจอที่ให้เราบันทึกก็เป็นหน้าที่เราคุ้นเคยนี่แหละครับ ถ้าหากว่าเราเพิ่มชื่อในงบ 2563 แล้ว เราต้องไปบันทึกเพิ่มในหน้างบ 2564 ด้วย
สังเกตุง่ายๆ ครับว่าท่านอยู่ที่เมนูนี้หรือไม่ เมื่อท่านคลิกเข้าไปที่ข้อมูลผู้ได้รับเบี้ยยังชีพย้อนหลัง 2563 จะมีข้อความบอกว่าเป็นผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพย้อนหลัง (รายละเอียดสามารถดูได้ในวีดีโอ)
บันทึกข้อมูลในระบบสารสนเทศเบี้ยยังชีพ คลิกที่นี่
เลือกให้ถูกนะเวลาจะเพิ่มข้อมูล หุหุ
แล้วคนที่ย้ายไปแล้วล่ะ คนที่ยังไม่ถึงเวลารับเงินล่ะ แก้ไขข้อมูลได้มั้ย
สำหรับกลุ่มที่ยังไม่ถึงเวลาจะรับเงิน หรือกลุ่มแฮบปี้เบิร์ดเดย์ที่จะได้เริ่มรับเงินเบี้ยยังชีพงวดแรกในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ให้ท่านไปตรวจสอบด้วยว่ามีชื่อในระบบสารสนเทศมั้ย ถ้ามีเลขบัตรถูกต้องมั้ย วิธีตรวจสอบที่ดีที่สุดคือ ใช้เลขบัตรไปค้นหาในเมนูย้อนหลัง เพื่อตรวจสอบว่ามีชื่อมั้ย แล้วก็ต้องเช็คตัวเองด้วยว่าเลขบัตรที่บันทึกไปถูกต้องมั้ย
เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นยังไม่ส่งข้อมูลไปตรวจกับกรมการปกครองนะครับ ถ้าเกิดมีเลขบัตรผิด พอถึงเวลาดึงข้อมูลไปตรวจกับกรมการปกครอง (โดยกรมบัญชีกลาง) จะทำให้คนเหล่านี้ถูกตัดออกจากระบบ กรมบัญชีกลางจะไม่โอนเงินให้ เหมือนที่เราเคยเจอมาก่อนหน้านี้
อีกกลุ่มหนึ่งคือ พวกที่ย้ายออกนอกพื้นที่ของเราแล้ว และเราได้จำหน่ายเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่บันทึกข้อมูลได้ ซึ่งข้อมูลในการรับเงิน หรือวิธีการรับเงินกรมบัญชีกลางจะดึงข้อมูลในหน้าปัจจุบันไปใช้ ถ้าข้อมูลวิธีการรับเงินของเราในปี 63 กับข้อมูลวิธีการรับเงินหน้าปัจจุบันปี 64 ของที่ใหม่ไม่ตรงกัน วิธีการรับเงินของผู้สูงอายุจะผิดพลาด
อย่างเช่น ที่เก่ารับเงินสด ที่ใหม่ไปลงว่ารับแบบเข้าบัญชี เดือนต่อไปผู้สูงอายุรายนี้กรมบัญชีกลางเขาจะโอนเข้าบัญชีนะครับ
ส่วนคนที่ท่านไม่ได้จ่ายเงินให้เขาในปี 2563 แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเขาย้ายไปแล้ว หรือเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติ ให้ท่านจำหน่ายออกจากระบบได้เลยนะครับ
แล้วสิ่งที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมตามหนังสือฉบับนี้คืออะไร
ในแนวทางการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามโครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-payment) เพิ่มเติม ที่แนบมากับหนังสือ 3 มีนาคม 63 นี้ บอกแนวทางการดำเนินการมา โดยแยกเป็นประเด็นให้เราเห็นและเข้าใจได้ง่ายๆ อย่างนี้ครับ
ประเด็นที่ 1 การโอนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผิดบัญชี เนื่องจากข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระบบสารสนเทศเบี้ยยังชีพผิดพลาด
แนวทางการดำเนินการ
1.ถ้าเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีผู้อื่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกัน ให้ตรวจสอบ แล้วก็เรียกเงินคืน แล้วนำเงินนั้นไปจ่ายให้ผู้มีสิทธิ พร้อมทั้งบันทึกพร้อมเอกสารหลักฐานรายงานผู้บริหารทราบ
2.ถ้าเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีผู้อื่นที่อยู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น (ไม่ใช่ อปท.เดียวกัน) ให้ตรวจสอบและให้รายงานข้อเท็จจริง พร้อมเอกสารหลักฐานผ่านจังหวัดมายังกรมส่งเสริม เพื่อประสานกับกรมบัญชีกลางในการเรียกเงินคืน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เงินตามข้อบัญญัติเบิกจ่ายให้กับผู้มีสิทธิไปก่อน ซึ่งกรมบัญชีกลางจะโอนเงินคืนคลังต่อไป
ประเด็นที่ 2 เลขบัตรประชาชนของผู้มีสิทธิขึ้นสถานะเป็นผู้รับบำนาญ
แนวทางการดำเนินการ – ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบ ถ้าไม่ได้เป็นไปตามที่กรมบัญชีกลางแจ้ง (ไม่ใช่ผู้รับบำนาญ) ให้รายงานข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารหลักฐานผ่านจังหวัดมาที่กรมส่งเสริม เพื่อประสานกรมบัญชีกลางต่อไป
ประเด็นที่ 3 ผู้มีสิทธิรับเงินเสียชีวิตในวันที่ 1 ซึ่งเขามีสิทธิได้รับเงิน แต่กรมบัญชีกลางโอนเงินวันที่ 10 ญาติของผู้มีสิทธิดันไปปิดบัญชี ทำให้วันที่ 10 กรมบัญชีกลางโอนเงินไม่ได้เพราะบัญชีถูกปิด
แนวทางการดำเนินการ – ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการเบิกจ่ายเงินไปก่อน แล้วรายงานให้กรมส่งเสริมทราบ เพื่อประสานกรมบัญชีกลางโอนเงินคืนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป แล้วก็ให้ อปท.ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านทราบด้วยว่า อย่าเพิ่งปิดบัญชีก่อนวันที่ 10 ของเดือน เพื่อจะได้โอนเงินได้
ประเด็นที่ 4 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้บันทึกข้อมูลในระบบสารสนเทศเบี้ยยังชีพ หรือบันทึกเลขบัตรประชาชนผิด
แนวทางการดำเนินการ – ให้ อปท.เบิกจ่ายเงินตามประกาศรายชื่อของ อปท.ในปีงบประมาณ 2563 โดยเบิกจ่ายเงินตามข้อบัญญัติ เมื่อกรมส่งเสริมเปิดระบบให้บันทึกย้อนหลัง 2563 เพิ่มเติม ก็ให้รีบดำเนินการบันทึกข้อมูลปีงบ 2563 และบันทึกในปีงบ 2564 ด้วย เพื่อให้กรมบัญชีกลางเบิกจ่ายให้ในเดือนต่อไป (เหมือนตอนนี้)
ส่วนงบประมาณที่ยังไม่ได้ ให้ อปท.ขอรับงบประมาณไปที่กรมส่งเสริม และให้ผู้บริหารตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาความบกพร่องตามควรแก่กรณี
ประเด็นที่ 5 วันเดือนปีเกิดของผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพไม่ตรงกับกรมการปกครอง
แนวทางการดำเนินการ – ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบข้อเท็จจริง ถ้าหากว่าข้อมูลถูกต้องแล้ว ให้รายงานข้อเท็จจริงพร้อมแนบเอกสารหลักฐานผ่านจังหวัดมายังกรมส่งเสริม เพื่อที่จะประสานกับกรมบัญชีกลางดำเนินการต่อไป
ประเด็นที่ 6 ถ้าหากว่าในพื้นที่เรามีผู้มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพที่บริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
แนวทางการดำเนินการ – ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ที่แจ้งความจำนงบริจาคเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วแจ้งไปที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด พร้อมทั้งแนบเอกสารการโอนเงินที่โหลดจากรายงานของกรมบัญชีกลาง แจ้งทุกเดือนนะครับ
ประเด็นที่ 7 การย้ายภูมิลำเนาของผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการระหว่างปีงบประมาณ
แนวทางการดำเนินงาน – ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบข้อมูลการย้ายจากระบบสารสนเทศเบี้ยยังชีพของกรมส่งเสริม หรือจากระบบของกรมบัญชีกลางเป็นประจำทุกเดือน ถ้ามีการย้ายให้ อปท.เดิม จำหน่าย (ย้ายที่อยู่) แล้วแจ้งให้ อปท.แห่งใหม่แจ้งให้ผู้สูงอายุมาลงทะเบียนให้เรียบร้อย (ชมรมพัฒนาชุมชนฯ เคยแจ้งว่า ให้ อปท.เดิมแจ้งทั้งผู้สูงอายุและ อปท.แห่งใหม่)
ส่วนในปีงบประมาณ 2562 ถ้าหากมีการย้ายของผู้สูงอายุ แล้ว อปท.เดิมยังไม่จำหน่ายในระบบสารสนเทศเบี้ยยังชีพ ทั้งที่ อปท.ใหม่รับลงทะเบียนและประกาศรายชื่อในปีงบ 2563 แล้ว ซึ่งทำให้ อปท.แห่งใหม่ไม่สามารถบันทึกข้อมูลในระบบสารสนเทศเบี้ยยังชีพได้
และแน่นอนว่าปีงบประมาณ 2563 ในระบบที่กรมบัญชีกลางดึงข้อมูลเพื่อไปจ่าย ไม่มีชื่อคนนี้แน่นอน เมื่อไม่มีชื่อย่อมไม่ได้เงิน การแก้ไขคือ ให้ อปท.แห่งใหม่เบิกจ่ายเงินเบี้ยยังชีพตามประกาศรายชื่อของปีงบ 2563 ตามข้อบัญญัติงบประมาณที่ อปท.เราตั้งไว้
ทีนี้ เมื่อกรมส่งเสริมเปิดระบบย้อนหลังให้บันทึกข้อมูล 2563 อย่างตอนนี้แหละ ให้ อปท.เดิมจำหน่ายการย้ายที่อยู่ในระบบสารสนเทศ และให้ อปท.แห่งใหม่บันทึกและปรับปรุงข้อมูลในระบบปี 2563 และ 2564 ให้เรียบร้อย
เมื่อคุณอ่านมาถึงตรงนี้ และเข้าข่ายข้อนี้ ให้โทรหากันตอนนี้เลยครับ จัดการได้เลย เพื่อกรมบัญชีกลางจะได้เบิกจ่ายเงินในเดือนถัดไป
รายละเอียดในการบันทึกข้อมูล การค้นหารายชื่อ และรายละเอียดอื่นๆ ท่านเปิดวีดีโอนี้ได้เลยครับ ประธานชัชบอกไว้แทบจะครบถ้วนแล้ว
นักพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รองประธาน ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย)
ลูกของแม่ และเพื่อนของท่าน