เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ออกระเบียบใหม่ ท้องถิ่นทำเกือบทั้งหมด

เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด

เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ออกระเบียบใหม่ แล้วเรียกประชุมท้องถิ่นในรุ่นที่ 2 ภาคอีสาน และภาคเหนือ ทาง Zoom ไปเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา แล้วเกิดการคุยกันไม่ลงตัว กรมกิจการเด็กไม่ฟังคนท้องถิ่นเลย ทำให้เกิดปรากฏการณ์ประท้วงทาง Facebook เกิดขึ้น

อ่าน ปรากฏการณ์ 17 สิงหาคม 2565 ที่นี่

เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ออกระเบียบใหม่

เรื่องที่นักพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเขาประท้วงกันคือ เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ออกระเบียบมาแบบตัวเองทำงานน้อยมาก ส่วนมาก นักพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำทั้งหมด

ผมมีข้อสังเกตุเกี่ยวกับระเบียบนี้อย่างหนึ่งครับ คือ กรมส่งเสริมเวลาออกระเบียบอะไรมาจะออกในนามของกระทรวงมหาดไทย เช่น ระเบียบเบี้ยยังชีพ ชื่อ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. …..

แต่กรมกิจการเด็กและเยาวชนออกระเบียบ ชื่อ ระเบียบกรมกิจการเด็กและเยาวชนว่าด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด พ.ศ. ….. แทนที่จะใช้ ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่าด้วย…..

เอาล่ะ เรามากางระเบียบเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดกันดูดีกว่าครับว่า เรา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ทำอะไรบ้าง

รับคำร้องขอลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ

ในระเบียบข้อ 8 ให้ผูปกครองยื่นคำร้องขอลงทะเบียนเด็กแรกเกิดได้สองช่องทาง คือ

หนึ่ง. ยื่นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อบต. เทศบาล ที่เด็กแรกเกิดพักอาศัยอยู่ นี่แหละครับ และให้เจ้าหน้าที่ (ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของ พมจ. หรือกรมกิจการเด็กและเยาวชนแน่นอน) นำเข้าข้อมูลผ่านระบบฐานข้อมูลโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

โดยดึงข้อมูลจากเครื่องอ่านบัตรประชาชน (ในการประชุม กด. บอกนะว่า ใช้เครื่องอ่านบัตรเท่านั้น) พร้อมด้วยเอกสารประกอบการลงทะเบียน

สอง. ยื่นผ่านแอปเงินเด็ก โดยให้ยืนยันตัวตนผ่านแอป D.DOPA ก่อน ซึ่งการยืนยันตัวตนผ่านแอปต้องมีการพิสูจน์ตัวตนก่อนในครั้งแรก ณ ที่ว่าการอำเภอ จากนั้นสแกนเอกสารประกอบส่ง (รายละเอียดในภาพประกอบ)

ตรวจสอบคำร้อง และแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นแก้ไข

ข้อ 11 การตรวจสอบคำร้องการลงทะเบียน ถ้ายื่นที่ อบต. เทศบาล ตรวจสอบแล้วบันทึกในระบบ ถ้ายื่นผ่านแอป ท้องถิ่นตรวจ ถ้าถูกต้องให้กดยืนยัน แต่ถ้าไม่ถูกต้องให้แจ้งผู้ยื่นให้แก้ไขให้ถูกต้องภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง

นั่นหมายความว่า ท้องถิ่นต้องแจ้งให้แก้ไขเป็นลายลักษณ์อักษรครับ

ที่สำคัญคือ ระเบียบบอกให้ท้องถิ่นตรวจการลงทะเบียน อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง …..แม่เจ้า…..

ทำประกาศรายชื่อภายใน 15 วัน

ข้อ 13 เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับคำร้องขอลงทะเบียน และตรวจเอกสารถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้ประกาศรายชื่อเด็กและผู้ปกครองที่มีสิทธิรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ทุกวันที่ 1 และวันที่ 16 ของเดือน ณ ที่ทำการ อบต. เทศบาล

หรือผ่านเว็บไซต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ติดประกาศ 15 วัน ถ้ามีผู้คัดค้านให้สอบข้อเท็จจริง แล้วส่งเอกสารให้ พมจ. ภายใน 15 วัน

การเปลี่ยนแปลงสิทธิและการระงับสิทธิ ก็ท้องถิ่นทำ

ข้อ 19 การยื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลงสิทธิผู้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด้กแรกเกิด ทำได้สองวิธี คือ

หนึ่ง. ยื่นที่ อบต. เทศบาล

สอง. ยื่นผ่านแอป

เมื่อ อบต. เทศบาล รับคำร้องแล้ว ตรวจเอกสาร พิจารณา แล้วส่งข้อมูลไปให้ พมจ. และกรมเด็กต่อไป

เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด กรมกิจการเด็กและเยาวชนได้ทำอะไรมั้ยวะ

จะเห็นได้ว่า กรมเด็กแทบไม่ได้ทำอะไรเลยนะครับ ท้องถิ่นทำแทบจะทั้งหมดเลย ตั้งแต่เริ่ม …..เหนื่อยว่ะ…..

อปท.ขอคัดค้านระเบียบเด็กแรกเกิดฉบับใหม่

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.