เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และการตรวจสอบการจ่ายเบี้ยยังชีพตามข้อแนะนำของ สตง.

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ  ที่เรานักพัฒนาชุมชน  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  จ่ายให้กับผู้สูงอายุในทุกๆ เดือน  ไม่ว่าจะจ่ายเงินแบบโอนผ่านธนาคาร  หรือจ่ายเป็นเงินสดนั้น  สตง.มักจะเข้ามาสอบถามเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นประจำกันทุกๆ ปี  นักพัฒนาชุมชนบางคนอาจจะเคยเจอ สตง.  นักพัฒนาชุมชนบางคนอาจจะยังไม่เคยแม้แต่ถ่ายเอกสารที่เกี่ยวข้องส่งไปให้  แต่ก็มีหนังสือซักซ้อมเกี่ยวกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุออกมาให้เราปฏิบัติอยู่เป็นประจำ

อย่างเมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา  มีหนังสือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากกระทรวงมหาดไทย คือ หนังสือ  ด่วน  ที่  0891.3 / 03962  ลงวันที่  10  มีนาคม  2559  เรื่อง  การตรวจสอบการดำเนินงานโครงการสร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุ  ออกมา  เนื่องจากว่า  สตง.ได้เข้าตรวจสอบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหลายๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  แล้วก็ได้รายงานการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ว่านี้มาให้กระทรวงมหาดไทยทราบ  กระทรวงเลยออกหนังสือแจ้งมา

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ มีข้อสั่งการ และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติ ดังนี้

ข้อแรก ให้พวกเราองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สูงอายุ ก่อนการรายงานเพื่อขอรับงบประมาณในแต่ละปี  และก่อนการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในแต่ละเดือนทุกเดือน  เรื่องผู้สูงอายุย้าย  ผู้สูงอายุตาย  ให้ประสานตรวจสอบข้อมูลกับสำนักทะเบียนท้องถิ่นของตัวเอง  หรือสำนักทะเบียนอำเภอ

ข้อสอง การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ  ถ้าเป็นการจ่ายเงินสดด้วยการจ่ายให้กับผู้รับมอบอำนาจ  ให้ผู้รับมอบอำนาจ (ผู้ที่มารับเงินแทน) รับรองการมีชีวิต  คือรับรองว่า  ผู้สูงอายุท่านนั้นยังมีชีวิตอยู่  โดยลงลายมือชื่อรับรองในช่องหมายเหตุในใบสำคัญรับเงินทุกครั้ง  และห้ามไม่ให้จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้กับผู้มารับแทนโดยที่ไม่มีหนังสือมอบอำนาจโดยเด็ดขาด

ข้อสาม หากการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นการจ่ายผ่านธนาคาร  ให้พวกเราตรวจสอบสถานะการดำรงชีวิต  หรือตรวจสอบการเสียชีวิตของผู้สูงอายุทุกเดือน  และตอนต้นปีงบประมาณ (ควรทำก่อนเดือนตุลาคมของปี) ต้อง (ต้องนะครับ) ให้ผู้สูงอายุมายืนยันชื่อและเลขบัญชีธนาคารก่อนการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุโดยการโอนเงินผ่านทางธนาคาร  เพื่อเป็นการยืนยันสถานะของบัญชีธนาคารทุกปี

ข้อสี่ ก่อนการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ  ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบซึ่งก็คือพวกเรานักพัฒนาชุมชน  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  นี่แหละครับ  ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สูงอายุที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุว่าจะต้อง  ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วงงานของรัฐ  รัฐวิสาหกิจ  หรือ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ซึ่งได้แก่  ผู้ที่รับเงินบำนาญ  เบี้ยหวัด  บำนาญพิเศษ  หรือเงินชื่อเรียกอื่นในลักษณะเดียวกันคือรับเป็นประจำทุกเดือน

ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ผู้ที่ได้รับเงินเดือน  ค่าตอบแทน  รายได้ประจำ  หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ  ได้แก่  ข้าราชการบำนาญ  บำเหน็จรายเดือน  เบี้ยหวัด  บำนาญพิเศษ  หรือเงินอื่นใดที่เรียกชื่ออย่างอื่น  โดยจ่ายในลักษณะเป็นรายเดือนจากหน่วยงานของรัฐ  รัฐวิสาหกิจ  ทั้งการประปา  การไฟฟ้า  ตรวจสอบว่าผู้สูงอายุเหล่านั้น  ตอนที่ยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเขาได้รับรองตัวเองแล้วว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน  ถูกต้อง

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

ข้อห้า  ข้อหก เป็นการสั่งการท้องถิ่นจังหวัดให้กำกับดูแลและติดตามการรายงานผลการดำเนินงานของท้องถิ่นต่างๆ ในเรื่องที่กล่าวมาในข้อหนึ่งถึงข้อสี่  เช่น  ถ้าหากพบว่ามีผู้สูงอายุเสียชีวิต  หรือพบว่าผู้สูงอายุเสียชีวิตให้เร่งรัดติดตามท้องถิ่นส่งคืนงบประมาณที่เหลือจ่ายคืนกรมต่อไป

ข้อเจ็ด ให้ท้องถิ่นตรวจสอบสถานภาพและปรับปรุงข้อมูลผู้สูงอายุที่ย้ายภูมิลำเนา  และผู้สูงอายุที่เสียชีวิต  แล้วยืนยันจำนวนผู้สูงอายุที่มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปที่กรมก่อนการจัดสรรงบประมาณในแต่ละปี

สรุปการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เราต้องเตรียมการดังนี้

1.ต้นปีงบประมาณ (เดือนตุลาคม) แจ้งให้ผู้สูงอายุที่มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ  ไปยืนยันสถานะการมีชีวิตอยู่กับทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล  หรือ  อบต.  ว่าตัวท่านยังมีชีวิตอยู่และยังไม่ได้ย้ายภูมิลำเนาไปไหน  รวมถึงแจ้งวิธีการรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุกับเทศบาล หรือ อบต.ด้วยว่า  จะรับเงินแบบไหน  รับเป็นเงินสดด้วยตัวท่านเอง  หรือให้โอนเงินผ่านทางธนาคารในชื่อบัญชีของท่าน  หรือมอบอำนาจให้คนอื่นมารับเงินสดแทน  หรือโอนเงินผ่านทางธนาคารโดยใช้บัญชีของผูรับมอบอำนาจ  อ่านรายละเอียด  การแสดงตนเพื่อรับเบี้ยยังชีพ  เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นครับ  ที่นี่

2.ในแต่ละเดือนที่เราจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ  ให้เราตรวจสอบข้อมูลด้วยว่า  ผู้สูงอายุที่มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในเดือนนี้มีใครเสียชีวิต  หรือมีใครตายมั้ย

3.การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในแต่ละเดือน  ถ้าเป็นการจ่ายเงินสดแบบมอบอำนาจให้ผู้อื่น (ผู้รับมอบอำนาจ) มารับแทน  ให้ผู้รับมอบอำนาจลงลายมือชื่อรับรองว่า  ผู้สูงอายุที่มอบอำนาจให้นั้นยังมีชีวิตอยู่  โดยลงลายมือชื่อไว้ในหมายเหตุในใบสำคัญรับเงิน  และห้ามจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้กับผู้มารับเงินแทนที่ไม่มีหนังสือมอบอำนาจโดยเด็ดขาด

ส่วนการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุโดยการโอนเงินผ่านธนาคาร  ให้ตรวจสอบการมีชีวิตก่อนทำการโอนเงินในทุกเดือน

เบื้องต้นผมขอเล่าให้ฟังเพียงเท่านี้ก่อนครับ  โดยการสรุปให้ฟังว่าในแต่ละเดือนเราต้องทำยังไงบ้าง  เท่าที่นึกออกในตอนนี้นะครับ  ครั้งหน้าจะมาเล่าให้ฟังอีกครั้งหนึ่งในเรื่องของการทำเอกสารประกอบการรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ  ต้องมีอะไร  ยังไงบ้าง  พยานมีมั้ย  พยานมีทำไม  และอื่นๆ  ขอบคุณที่ติดตาม  สวัสดีครับ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.