ค่าเช่าบ้าน ชาวท้องถิ่น กรณีเช่าบ้านพ่อของตัวเอง ผมนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาได้เมื่อได้ฟัง สตง.บรรยายที่จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อวันที่ 24 – 27 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา และเพื่อนๆ ในโลกโซเชียลเป็นผู้ที่ทำให้ภาพเหล่านี้ชัดขึ้นครับด้วยการแชร์เรื่องเหล่านี้ เรื่องค่าเช่าบ้านของชาวท้องถิ่นที่เช่าบ้านพ่อตัวเองนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดอุดรธานี แต่เกิดขึ้นนานมาแล้วนะครับ หนังสือหารือนี้ตั้งแต่ปี 2554 แต่ก็นำมาเล่าให้ท่านฟัง เพราะเรื่องเช่าบ้านพ่อแม่ตัวเองกำลังฮอตและพวกเราชาวท้องถิ่นกำลังโดน สตง.ไล่บี้อยู่
ค่าเช่าบ้าน ชาวท้องถิ่น กรณีเช่าบ้านพ่อตัวเอง
คนท้องถิ่นท่านหนึ่ง รับราชการครั้งแรกที่เทศบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดกาฬสินธุ์ ต่อมาขอโอนย้ายมาที่เทศบาลแห่งหนึ่งในอำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งที่วังสามหมอ อุดรธานี คนท้องถิ่นท่านนี้ไม่มีบ้านพักที่นี่ และเทศบาลที่ทำงานก็ไม่มีบ้านพักให้ เขาก็ยังคงพักอาศัยที่จังหวัดกาฬสินธุ์ซึ่งบ้านที่เขาพักอาศัยนี้เป็นบ้านพ่อของเขาเอง เดินทางมาทำงานที่จังหวัดอุดรธานีทุกวัน เขาเลยทำเรื่องเบิกค่าเช่าบ้านตามสิทธิของเขาไปที่เทศบาลที่เขาทำงานอยู่
เทศบาลแห่งนั้นเลยทำหนังสือหารือผ่านจังหวัดอุดรธานีไปที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หารือเรื่องค่าเช่าบ้าน กรณีเช่าบ้านพ่อตัวเอง ว่าสามารถทำได้หรือไม่ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มีหนังสือที่ มท 0808.2 / 7652 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2554 เรื่อง หารือสิทธิการเบิกเงินค่าเช่าบ้าน ออกมา
ค่าเช่าบ้านกรณีเช่าบ้านพ่อตัวเอง ที่หนังสือฉบับนี้อธิบายมาคือ คนท้องถิ่นท่านนี้ไม่มีบ้านพักที่ทางเทศบาลที่เขาทำงานอยู่จัดให้ และก็ไม่มีบ้าน (ที่เป็นกรรมสิทธิ์) ของตัวเอง หรือบ้าน (ที่เป็นกรรมสิทธิ์) ของเมีย อยู่ในท้องที่ที่เขาทำงานอยู่นั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเขาได้เช่าบ้านพ่อเขาอยู่และเขาได้จ่ายเงินค่าเช่าให้พ่อเขาจริง เขาก็เป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้าน
ค่าเช่าบ้านกรณีเช่าบ้านพ่อตัวเอง ที่ สตง.ตรวจและเรียกเงินคืนมักจะเป็นกรณีที่ไม่ได้จ่ายค่าเช่าจริง ไม่มีเอกสารหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าจ่ายค่าเช่าบ้านให้พ่อ หรือแม่ตัวเอง ให้ สตง.ดู ที่สำคัญคือ เมื่อ สตง.ลงพื้นที่ตรวจสอบ ได้รับคำตอบจากเจ้าของบ้าน ซึ่งก็คือพ่อหรือแม่ของผู้เช่าว่า จ่ายบ้างไม่จ่ายบ้าง ไม่ได้จ่ายเป็นประจำ แล้ววิธีจ่ายคือจ่ายเป็นเงินสดซึ่งหาหลักฐานการจ่ายเงินไม่ได้ ไม่เหมือนกับการจ่ายเงินแบบโอนผ่านธนาคาร
อย่างล่าสุดที่ลงตรวจแถวอุดรธานี ทราบมาว่า สตง.เขาก็ติติงคลังว่าทำไมให้เขาเช่าบ้านพ่อแม่ ซึ่งคลังบางแห่ง (ย้ำว่าบางแห่งเท่านั้น) ได้ชี้แจง สตง.ไปว่า ก็มันไม่ได้ผิดระเบียบ ส่วนมันจะเหมาะสมหรือไม่อีกเรื่อง และในเมื่อเรื่องการเบิกเงินค่าเช่าบ้านท้องถิ่นมันผ่านหัวหน้า ผ่าน ผอ. ผ่านปลัดและใครต่อใครมาแล้ว นั่นหมายความว่า ท่านเหล่านั้นเห็นว่ามันเหมาะสมแล้ว ในเมื่อมันเหมาะสมแล้วก็ต้องเบิกให้เขาตามสิทธิที่เขามี ก็เท่านั้น ไม่มีไร
กรณีศึกษา ค่าเช่าบ้านท้องถิ่น
เรื่องค่าเช่าบ้านของเราชาวองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้รับการตรวจสอบจาก สตง. และโดนเรียกเงินคืนในปีงบ 2560 ในขณะนี้มักจะเป็นกรณีเช่าบ้านพ่อแม่ตัวเอง หรือบางเคสเป็นกรณีที่สลับซับซ้อนกว่านั้นก็มี อย่างเช่น
เช่าบ้านแม่ยาย แต่บ้านแม่ยายปลูกสร้างบนที่ดินของเมีย
เช่าบ้านแม่ยาย ทำเรื่องเช่าหลังจากแต่งงานมีลูกมาแล้ว 2 คน ย้ายมาแล้วหลายแห่ง สตง.เลยเกิดความสงสัยว่า ที่ผ่านมาเป็น 10 ปีคุณอยู่ยังไง ทำไมถึงมาเช่าตอนปี 2559 นี้
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกก่อนว่า นี่เป็นเพียงกรณีศึกษาเท่านั้น และอย่าลืมว่า เคสนี้เขาจ่ายค่าเช่าบ้านให้พ่อเขาจริงๆ เป็นประจำทุกเดือนนะครับ และเท่าที่ทราบ ปี 2560 นี้ สตง.เข้าตรวจเน้นเรื่องนี้ และที่อุดร แม้จะทำถูกต้อง เอกสารการเบิกจ่ายถูกต้องครบถ้วน จ่ายเงินค่าเช่าให้พ่อแม่ทุกเดือน สตง. (บางชุด) เขาก็ยังไม่ให้ เพราะฉะนั้นถ้าท่านทำอยู่ให้ท่านพิจารณาอย่างละเอียดครับ
ตรวจสอบการจ่ายเบี้ยยังชีพตามข้อแนะนำของ สตง.
นักพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รองประธาน ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย)
ลูกของแม่ และเพื่อนของท่าน