ผู้สูงอายุติดคุก สามารถรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้หรือไม่ กรณีเคยตัดทำยังไง

ผู้สูงอายุติดคุก  สามารถรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้หรือไม่  คำถามนี้  จนถึงปัจจุบันยังมีคนถามเข้ามาอยู่เรื่อยๆ  นะครับ  บางคนถามมาในกรณีที่ผู้สูงอายุเป็นคนพิการด้วย  ทำให้การตอบคำถามมีการอธิบายแยกแยะออกไปอีก  แต่วันนี้ขอพูดถึงเฉพาะกรณีที่เป็นเพียงแค่ผู้สูงอายุเท่านั้นครับ  อย่าถามนะครับว่าผู้สูงอายุท่านนี้โดนข้อหาอะไร  ข่มขืนป่าว  HA  HA

ผู้สูงอายุติดคุก

ก่อนหน้านี้พวกเรา  นักพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  แล้วก็ผู้ที่รับผิดชอบงานจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมองว่า  การที่ผู้สูงอายุติดคุกอยู่ในเรือนจำ  และได้รับเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม  ได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย  ได้รับอาหาร  อะไรแบบนี้ครับ  เราถือว่าผู้สูงอายุรายนั้นเป็นผู้ได้รับสวัสดิการจากรัฐ  (ก็รัฐจ่ายค่าอาหาร  ค่าเสื้อผ้า  ค่าอะไรต่างๆ  เหล่านี้คือสวัสดิการจากรัฐอ่ะ)  เราเลยไม่จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้กับผู้สูงอายุที่ติดคุก

และเรื่องการเป็นผู้ได้รับสวัสดิการจากรัฐในกรณีแบบนี้  ก็เป็นเรื่องที่ได้มีการถกเถียงกันอยู่เสมอๆ  จากเพื่อนๆ  ร่วมสายงานที่ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการเบี้ยยังชีพเอง  และจากเพื่อนๆ  ในสายงานอื่นในบางครั้งบางวงสนทนา  ซึ่งเป็นการถกเถียงด้วยเหตุด้วยผลเพื่อเพิ่มรอยหยักในสมองนะครับ  ถกเถียง  เห็นด้วย  เห็นต่าง  กันมานานสัปดาห์พอสมควร  จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ที่มีหนังสือออกมาว่า  ผู้สูงอายุที่ติดคุกสามารถที่จะรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้  ก็มีเรื่องให้ถกเถียงกันอีกว่า  กรณีก่อนหน้านี้ที่เราไปตัดสิทธิของผู้สูงอายุท่านนั้นล่ะ  เราจะทำยังไง

ผู้สูงอายุติดคุก รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้

ผู้สูงอายุติดคุก

เมื่อเดือนมกราคม  2560  ที่ผ่านมา  มีหนังสือกระทรวงมหาดไทย  ที่ มท 0810.6 / ว 0352  ลงวันที่  25  มกราคม  2560  เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุกรณีผู้สูงอายุต้องโทษจำคุก  ออกมาครับหนังสือฉบับนี้บอกว่า  การจ่ายเครื่องนุ่งห่ม  การจัดการรักษาพยาบาล  การจัดอาหารให้ผู้ต้องขัง  ไม่ใช่สิ่งที่รัฐจัดให้เป็นพิเศษ  หรือเป็นสิทธิประโยชน์แต่อย่างใด  แต่เป็นการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  เรื่อง การกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง  ผู้ต้องขังในเรือนจำถือเป็นพลเมืองของประเทศเช่นกัน  จึงควรได้รับสิทธิต่างๆ เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

กฏกระทรวงมหาดไทย  ออกตามความในมาตรา  58  แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์  พุทธศักราช  2479  ส่วนที่  6  การอนามัยและการสุขาภิบาล  หมวด  2  อนามัยของผู้ต้องขัง  ข้อ  70  กำหนดให้จ่ายเครื่องนุ่งห่มหลับนอนแก่นักโทษเด็ดขาดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

หมวด  3  การรักษาพยาบาล  ข้อ  72  กำหนดให้เรือนจำทุกแห่งจัดให้มีสถานพยาบาลเพื่อเป็นการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังที่ป่วย  หมวด  4  การเลี้ยงอาหาร  ข้อ  77  กำหนดให้จัดให้ผู้ต้องขังได้รับประทานอาหารอย่างน้อย  2  มื้อคือเช้าและเย็น  อาหารมื้อหนึ่งๆ  ให้ประกอบด้วยข้าวหรือสิ่งอื่นแทนข้าว  และกับข้าวหรือสิ่งอื่นแทนกับข้าว  เป็นต้น

ซึ่งสิ่งต่างๆ  ดังกล่าวมิใช่สิ่งที่รัฐจัดให้มีขึ้นเป็นพิเศษเพื่อให้ผู้ต้องขังมีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและสะดวกสบาย  หรือเป็นสิทธิประโยชน์แต่อย่างใด  แต่เป็นการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามหลักปฏิณญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  เรื่อง  การกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง  ผู้ต้องขังในเรือนจำถือเป็นพลเมืองของประเทศเช่นกัน  จึงควรได้รับสิทธิต่างๆ  เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปตามที่กฏหมายบัญญัติไว้

ดังนั้นสรุปว่า  ผู้สูงอายุที่ต้องโทษจำคุกในเรือนจำและได้รับสิ่งต่างๆ ในเรือนจำไม่ถือเป็นกรณีได้รับสวัสดิการ  หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ  ก็เลยไม่ขัดกับระเบียบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปี  52  ข้อ  6 (4)

แล้วผู้สูงอายุติดคุกที่เราตัดสิทธิเขาไปก่อนหน้านี้ล่ะ

แล้วผู้สูงอายุติดคุกที่เราตัดสิทธิเขาไปก่อนหน้านี้ล่ะ  ที่หลายๆ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เขาเหล่านั้นปฏิบัติตามหนังสือที่ออกมาก่อนหน้านี้ต้องทำยังไงล่ะ  อย่างเช่น  เมื่อมีผู้สูงอายุติดคุกคดีถึงที่สุดแล้ว  เราก็ทำเรื่องระงับการจ่ายไปเมื่อปีที่แล้วนี่เอง  บางแห่ง  บาง อปท. ตัดชื่อออกจากประกาศด้วยอ่ะ  จะต้องทำยังไง

ถ้าหากว่าเราได้ตัดรายชื่อของผู้สูงอายุที่ติดคุกท่านนี้ออกจากประกาศ  (ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของ  อบต.หรือเทศบาลเราน่ะครับ)  คงจะต้องทำใจแล้วล่ะครับ  เพราะต้องให้ท่านลงทะเบียนขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใหม่เมื่อถึงเวลาลงทะเบียนคือในเดือนกรกฎาคมของทุกปี  แต่ถ้าหากว่าเราไม่ได้ตัดรายชื่อออกจากประกาศในปีงบประมาณ  2560  เราก็สามารถจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้ท่านผู้นี้ต่อได้เลย  และไม่ต้องไปใจดีจ่ายเงินย้อนหลังให้เขานะครับ  เพราะหนังสือเพิ่งออกมาเมื่อมกราคมนี้เอง  และก็อย่าลืมตอนเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้รับเบี้ยยังชีพด้วย  แล้วถ้ามีใครไม่มาแสดงตน  สอบถามหาข้อมูลดีๆ  นะครับ  เขาไปอยู่ที่ไหนยังไง  อ่านรายละเอียดการแสดงตนได้ที่นี่

ก่อนหน้านี้  ก่อนที่จะมีหนังสือตัวนี้ออกมา  พวกเรา (ผมหมายถึงคณะกรรมการชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  แห่งประเทศไทย) ก็พอทราบมาบ้างว่า  เดี๋ยวนี้ผู้สูงอายุติดคุกสามารถรับเงินเบี้ยยังชีพได้  แต่มันก็ยังไม่แน่ชัด  ยังไม่ชัดเจน  เนื่องจากยังไม่เห็นเป็นหนังสือออกมา  และส่วนมากคนถามก็มักจะขอหนังสือด้วย  อย่างเช่น  ถ้าเราตอบไปว่าได้  เขาจะถามต่อว่า  ใช้หนังสือตัวไหน  คงจะนึกภาพออกนะครับ  ในเมื่อมันยังไม่มีหนังสืออย่างเป็นทางการ  ก็ได้แต่บอกกันต่อๆ ไปในหมู่สมาชิกชมรมฯ ว่า  ให้ปฏิบัติตามหนังสือสั่งการก่อนหน้านี้เรื่องผู้สูงอายุติดคุกไปก่อน

และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีคนไปถามในสายตรง  สถ.  ให้ท่านลองไปค้นดูว่าเขาถามเขาตอบกันยังไง  ที่นี่ครับ

สรุป  ผู้สูงอายุติดคุกเราจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เขาเหล่านั้นได้ในปีงบประมาณ  2560  นี้  (ในปีงบ  61  ไม่ต้องถามนะ  เพราะหนังสือแจ้งแนวทางการรับลงทะเบียนเขาบอกไว้ว่าให้รับลงทะเบียนผู้สูงอายุที่ติดคุกด้วย  ฉะนั้นห้ามถามว่าจ่ายได้มั้ย)  แต่ถ้าเคยระงับการจ่ายเขาในปีงบที่ผ่านมา  ก็ให้ทำเรื่องจ่ายเขาต่อ  วงเล็บไว้นิดหนึ่งว่า  ต้องมีชื่อในประกาศด้วยนะ  และไม่จ่ายย้อนหลัง  เคนะจ๊ะ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.