การย้ายภูมิลำเนาของผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เรื่องนี้มีหนังสือขอความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ออกมาคือ หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0810.6/ว 728 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 เรื่อง ขอความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์กรณีการย้ายภูมิลำเนาของผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
หนังสือนี้อ้างถึง ระเบียบเบี้ยยังชีพปี 52 และหนังสือซักซ้อมแนวทางการรับลงทะเบียนผู้สูงอายุปี 2563 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 เพราะฉะนั้นควรหยิบหนังสือที่อ้างถึงพวกนี้มาพิจารณาด้วย
เรื่องของเรื่องของหนังสือนี้คือเขาบอกว่า ชาวบ้านยังไม่เข้าใจเรื่องการย้าย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจึงขอความร่วมมือสำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนท้องถิ่น แจ้งผู้สูงอายุเป็นหนังสือให้ไปลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ย้าย แต่ไม่เกินเดือนพฤศจิกายนของปีที่ย้ายนั้น อปท.เดิมจ่ายถึงเดือนกันยายนของปีงบที่ย้าย อปท.ใหม่จ่ายต่อในเดือนตุลาคมปีงบถัดไป
เหมือนกับที่เคยบอกมาในหนังสือที่อ้างถึง หนังสือซักซ้อมการลงทะเบียนปีงบ 63 ข้อ 3
ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดกับ อปท. เกิดกับนักพัฒนาชุมชน คือ อบต.ไม่มีสำนักทะเบียน เทศบาลบางแห่งก็ไม่มีสำนักทะเบียน แล้วสำนักทะเบียนอำเภอไม่ทำตามหนังสือสั่งการนี้ ผู้สูงอายุย้ายแล้วไม่มีหนังสือแจ้งให้ไปลงทะเบียนจะทำยังไง หรือแจ้งแต่ลืมไปลงทะเบียนจะทำยังไง
อันนี้อย่าเพิ่งคิดก็ได้ แต่หนังสือฉบับนี้มีข้อความที่ทำให้เกิดความสงสัย และถ้าทำตามมันขัดกับหลักการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่เราดำเนินการมาตลอด ผมจะยกตัวอย่างให้ฟังครับ
การย้ายภูมิลำเนาของผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
ตัวอย่างที่ 1
ผู้สูงอายุย้ายวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 แล้วไปลงทะเบียนที่ อปท.แห่งใหม่ในวันที่ 30 กันยายน 2562 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของปีงบประมาณ แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่หนังสือบอกไว้ว่า “ไปลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ย้ายเข้า ตั้งแต่วันที่ย้ายแต่ไม่เกินเดือนพฤศจิกายนของปีนั้น”
เพราะฉะนั้นผู้สูงอายุรายนี้ รับเงินที่เก่าถึงเดือนกันยายน 2562 ไปรับเงินที่ใหม่เดือนตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นปีงบประมาณใหม่ 2563
ตัวอย่างที่ 2
ผู้สูงอายุย้ายวันที่ 30 กันยายน 2562 วันสุดท้ายของปีงบประมาณ และกลัวว่าจะไม่ได้เงิน พอย้ายเสร็จรีบไปลงทะเบียนที่ อปท.แห่งใหม่เลยในวันเดียวกันคือ วันที่ 30 กันยายน 2562 กรณีนี้เหมือนกับกรณีที่ 1 คือ ไปลงทะเบียนภายในเดือนพฤศจิกายนของปีที่ย้าย
ผู้สูงอายุรายนี้รับเงินที่เก่าถึงเดือนกันยายน 2562 และเริ่มรับเงินที่ใหม่ในเดือนตุลาคม 2562
ตัวอย่างที่ 3
ย้ายวันที่ 30 กันยายน 2562 แล้วไปลงทะเบียนภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 (วันที่ 1 – 30 พฤศจิกายน 2562) ตามเกณฑ์ ตาคนนี้จะได้รับเงินที่เก่าถึงเดือนกันยายน 2562 แล้วไปรับเงินที่ใหม่ในเดือนตุลาคม 2562
สังเกตเห็นอะไรมั้ยครับ
ตามตัวอย่างที่ 3 ตาคนนี้ย้ายและไปลงทะเบียนตามเกณฑ์เหมือนกัน แต่แกไปลงทะเบียนในเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งเป็นปีงบประมาณ 2563 แล้ว และเลยเดือนตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นเดือนต้นปีงบประมาณมาแล้ว 1 เดือน แต่ความหมายของหนังสือฉบับนี้คือ ให้จ่ายย้อนหลังให้ตาคนนี้
อย่างนี้ก็ได้เหรอ
ตัวอย่างที่ 1 ย้าย 28 กุมภาพันธ์ 2562 ไปลงทะเบียน 30 กันยายน 2562 ตัวอย่างที่ 2 ย้าย 30 กันยายน 2562 ไปลงทะเบียน 30 กันยายน 2562 ทั้งสองไปลงทะเบียนภายในปีงบเดียวกันนะครับ
แต่ตัวอย่างที่ 3 ย้ายปีงบ 2562 ไปลงทะเบียนปีงบ 2563 ซึ่งมันควรจะรับเงินปีงบ 2564 แต่หนังสือนี้สั่งให้เราจ่ายย้อนหลังให้ เอาละมาดูตัวอย่างต่อไป
ตัวอย่างที่ 4
ผู้สูงอายุย้ายวันที่ 30 กันยายน 2562 (หรือก่อนหน้านี้) แต่ไปลงทะเบียนหลังเดือนพฤศจิกายน 2562 พูดง่ายๆ คือ ไม่ไปลงทะเบียนภายในเดือนพฤศจิกายนของปีที่ย้าย
กรณีนี้ ที่เก่าจ่ายถึงเดือนกันยายน 2562 เท่านั้น แต่ที่ใหม่เริ่มจ่ายเดือนตุลาคม 2563 คือปีงบประมาณ 2564 งบประมาณ 2563 ตาคนนี้ไม่ได้รับครับ เป็นไปตามหนังสือที่อ้างถึง ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 ข้อ 3.4
ตัวอย่างที่ 5
กรณีที่ 1 ย้ายวันที่ 1 ตุลาคม 2562 (ปีงบประมาณ 2563) ไปลงทะเบียนที่ อปท.แห่งใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2562 จะรับเงินที่เก่าถึงปีงบประมาณ 2563 คือเดือนกันยายน 2563 แล้วไปรับที่ใหม่ปีงบประมาณ 2564 เดือนตุลาคม 2563
อีกกรณีคือ ย้ายวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ปีงบประมาณ 2563 เหมือนกัน แต่ไปลงทะเบียนที่ใหม่ภายในเดือนกันยายน 2563 ปีงบเดียวกัน กรณีนี้รับเงินที่เก่าถึงปีงบประมาณ 2563 คือเดือนกันยายน 2563 และรับเงินที่ใหม่ปีงบประมาณ 2564 เดือนตุลาคม 2563 เหมือนกับกรณีแรก
กรณีที่ 3 ย้าย 1 ตุลาคม 2562 (ปีงบประมาณ 2563) แต่ไม่ไปลงทะเบียนภายในเดือนกันยายน 2563 กรณีนี้ปีงบประมาณ 2564 จะไม่มีสิทธิรับเงินครับ จะได้รับเพียงปีงบประมาณ 2563 เท่านั้นเอง
เป็นอย่างไรบ้างครับ งง หรือ เข้าใจ กับหนังสือฉบับนี้บ้างไหม ส่วนตัวผม ผมยังมองว่า การลงทะเบียนผู้สูงอายุเป็นการลงทะเบียนล่วงหน้าอยู่ ไม่ควรจะมาจ่ายย้อนหลังให้ หรือกระทรวงมหาดไทยควรแก้ไขระเบียบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซะ
ทำให้ระเบียบใหม่ผู้สูงอายุเหมือนพิการ อายุ 60 ปีบริบูรณ์ซะก่อนค่อยมาลงทะเบียน แล้วรับเงินในเดือนถัดไปเลย จะสะดวกและไม่งง ไม่ปวดหัวเหมือนอย่างวันนี้ หรือท่านคิดว่ายังไง
ตัวอย่างนำมาจากตัวอย่างของ N.P ชมรมพัฒนาชุมชน อปท.
นักพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รองประธาน ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย)
ลูกของแม่ และเพื่อนของท่าน