การศึกษาดูงาน ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

การศึกษาดูงาน ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

การศึกษาดูงาน ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง – คำว่าเตรียมตัวหมายความถึงตั้งแต่การเขียนโครงการ การคัดเลือกองค์กรที่จะไปศึกษาดูงาน การวางโปรแกรมเส้นทางที่จะไปดูงาน รวมถึงการกำหนดรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น ใครเป็นคนหาร้านอาหาร ใครเป็นคนหาที่พัก ใครต้องมีหน้าที่อะไรบ้างใน การศึกษาดูงาน ในครั้งนี้

ต้องบอกก่อนว่า การที่เราองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต. หรือเทศบาล ที่ทำโครงการอบรมแล้วมีการไปศึกษาดูงานด้วยเนี่ย เป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงกับการถูกตรวจสอบ โดยเฉพาะเพื่อนๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ภาคอีสาน

ซึ่งข้อท้วงติงยอดฮิตในภาคอีสาน และอาจจะรวมถึงภาคอื่นๆ ด้วยคือ สถานที่ไปดูงานกับพื้นที่ของเราบริบทไม่เหมือนกัน ทำไมถึงต้องไปดูงานทางโน้น ทำไมไม่ดูงานแถวที่ทำงาน ทำไมค่าอาหารถึงแพง และอื่นๆ อีกมากมายที่จะตามมา โดยลืมไปว่า เราไปดูการบริหารจัดการของเขา เราไม่ได้จะผลิดเหมือนเขา

เอาล่ะ เรามาว่าเรื่องของ การศึกษาดูงาน ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง กันต่อ เรื่องของการเตรียมตัวไปการไปศึกษาดูงาน เริ่มจาก การวางแผนก่อนว่า เราจะต้องเขียนโครงการยังไง เป้าหมายของเราคือใครบ้าง ที่สำคัญคือ อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเรามั้ย ผมจะไล่ไปทีละข้อนะครับ บางข้ออาจข้ามไปมาสลับกัน อย่าเพิ่งงงนะ เริ่มเลยละกัน

1.การเขียนโครงการ

ส่วนมากโครงการที่มีการเดินทางไปศึกษาดูงานด้วยมักจะเป็นโครงการอบรมของพนักงานของเราเอง คนดำเนินการก็จะเป็นนักทรัพย์ หรือโครงการอบรมของชาวบ้านหรือประชาชนในพื้นที่ อย่างเช่น ผู้สูงอายุ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพ เป็นต้น อันหลังนี้นักพัฒน์ครับ

ในการเขียนโครงการต้องระบุวัตถุประสงค์ และเป้าหมายในการไปศึกษาดูงานให้ดีนะครับ ให้มันอยู่ในอำนาจหน้าที่ที่เราสามารถทำได้ และเลือกองค์กรที่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีที่เหมาะสมที่จะไปศึกษาเรียนรู้ด้วย

ซึ่งเรื่องของการเขียนโครงการผมไม่ห่วงครับ นักพัฒนาชุมชนเขียนได้ทุกคน ใครไม่เคยเขียนเข้าไปอ่าน การเขียนโครงการ สิ่งที่นักพัฒนาชุมชนต้องทำให้เป็น ก่อนก็ได้ครับ

2.ออกคำสั่งคณะทำงาน

บางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอโครงการ บันทึกขออนุมัติ คำสั่งคณะทำงาน ไปพร้อมกันในแฟ้มเดียวกันเลยนะครับ บางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เว้นหนึ่งวัน พอโครงการออกมา ค่อยเสนอคำสั่งคณะทำงานไป

แต่ไม่ว่าอย่างไร เราต้องเตรียมคนเอาไว้ให้พร้อมนอกเหนือจากคำสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยเฉพาะในขั้นตอนของการประสานงานหาที่ศึกษาดูงาน ประสานที่พัก ประสานร้านอาหาร อันนี้พูดถึงในกรณีที่เราไม่ใช้ทัวร์นะครับ พูดถึงในกรณีที่เราทำเอง ซึ่งมันจะเหนื่อยกว่าใช้ทัวร์มากถึงมากที่สุด

ในขั้นตอนนี้ สมาชิกชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย) ก็จะได้เปรียบคนอื่นหน่อยตรงที่ สมาชิกเรามีอยู่ครอบคลุมทั่วประเทศ ท่านสามารถประสานงานสอบถามเรื่องสถานที่ศึกษาดูงานได้ง่าย เพียงแค่บอกไปว่า จะไปดูงานเรื่องอะไร ที่จังหวัดไหน ก็จะมีคนมาบอกว่าที่ไหนมีดีอะไร

เวลาประสานให้เราบอกรายละเอียด บอกข้อมูลให้ได้มากที่สุดนะครับ อย่างเช่น เราจะพากลุ่มผู้สูงอายุไปดูงาน เรื่องอาชีพของผู้สูงอายุ เรื่องการบริหารจัดการโรงเรียนผู้สูงอายุ จำนวนสามบัส อะไรแบบนี้ครับ คนหาสถานที่มาตอบเราเขาจะได้ตอบถูกว่าควรไปไหนอย่างไร ถ้าคนเยอะมากกว่าสามบัสก็ควรจะแยกเป็นรุ่น

รวมถึงวางคนที่ทำหน้าที่พิธีกร ทั้งวันอบรม แนะนำคณะผู้บริหารที่สถานที่ดูงานด้วยนะครับ คนถ่ายภาพ คนเตรียมของที่ระลึก คนที่เป็นพยาบาล เตรียมใบเสร็จรับเงินไปด้วยเผื่อร้านมีแบบที่ไม่ใช่ และอื่นๆ อีกมากมาย

3.ประสานงานก่อนออกเดินทาง

คุยให้จบนะครับ โดยเฉพาะเรื่องอาหารกับเรื่องที่พัก กรณีที่เราจัดเอง เราจะเสียเปรียบพวกที่ให้ทัวร์จัดให้ ในการหาข้อมูลร้านอาหาร ที่พัก เราจะเป็นแบบคนตาบอดอ่ะนะ เราไม่รู้หรอกว่าร้านนี้ดี หรือไม่ดี ที่พักนี้ดี หรือไม่ดี ซึ่งคนที่ช่วยเราได้ก็คือ เพื่อนสมาชิกชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั่นแหละครับ

อ่านมาถึงตรงนี้ คนที่ยังไม่สมัครสมาชิกชมรมพัฒนาชุมชน เชิญได้เลยนะครับ ค่าสมัคร 200 บาทและค่าบำรุงรายปีๆ ละ 200 บาทเท่านั้นครับ ประสานผมมาได้เลย หรือ ทักแชทมาครับ

บางทีต้องมีการมัดจำด้วยนะ ทั้งร้านอาหาร และที่พัก

4.ประสานงานในขณะเดินทาง

ในการเดินทางไปศึกษาดูงาน มันจะต้องมีล่าช้า ไม่เป็นไปตามที่คุยกันไว้ อย่างเช่น นัดร้านอาหารไว้เที่ยง แต่เราดันไปถึงก่อน ต้องโทรประสานแจ้งร้านด้วยนะครับ ไม่งั้นเขาเตรียมอาหารไม่ทัน หรือนัดสถานที่ดูงานไว้แล้วเราไปยังไม่ถึงเขาต้องรอเรา แบบนี้ก็ต้องโทรประสานว่าเราถึงไหนแล้ว รวมถึงประสานเส้นทางด้วย ไปทางไหนยังไง

เท่าที่นึกออกตอนนี้ก็มีเท่านี้นะ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.