การเขียนโครงการ สิ่งที่นักพัฒนาชุมชนต้องทำให้เป็น

การเขียนโครงการ

การเขียนโครงการ สิ่งที่นักพัฒนาชุมชนต้องทำเป็น ที่จริงตำแหน่งไหนๆ ก็ต้องทำเป็นอยู่แล้วล่ะครับ มันเป็นเรื่องที่ทุกตำแหน่งต้องเป็นอยู่แล้วนะ…ผมว่า

บทความชิ้นนี้ ผมจะมาแนะนำการเขียนโครงการครับ แต่รูปแบบในการเขียนผมจะเอาแบบของผมนะ มันอาจจะไม่เหมือนกับของคนอื่น แต่หลักๆ คล้ายๆ กันครับ ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะน้อยกว่าผม ก็เท่านั้นเอง

การเขียนโครงการ มีองค์ประกอบอะไรบ้าง

องค์ประกอบของการเขียนโครงการ ส่วนมากจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน อาจจะมีเพิ่มหรือลดลงบ้างเป็นบางข้อ แต่โดยรวมแล้วไม่ต่างกันมา ลองดูที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ก้ได้ครับ ว่าแตกต่างกันมั้ย บอกก่อนว่า ผมเริ่มเขียนและใส่ข้อ 1 ที่หลักการและเหตุผลนะครับ ตามภาพประกอบ

1.ชื่อโครงการ

โครงการที่ผมเขียน ผมจะใส่ชื่อโครงการที่หัวกระดาษตรงกลาง และลงเป็นหัวข้อไว้ ตามภาพประกอบนั่นแหละครับ ซึ่งชื่อโครงการที่ตั้ง จะต้องชัดเจน สื่อความหมายได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์

2.ผู้รับผิดชอบโครงการ

ก่อนหน้าที่ผมจะใส่ ผู้รับผิดชอบโครงการ ผมมีหัวข้อ เจ้าของโครงการด้วย ซึ่งเจ้าของโครงการก็คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เราทำงานอยู่นั่นแหละครับ ผู้รับผิดชอบโครงการเป็นงาน หรือฝ่าย หรือกองนะครับ เช่น สำนักปลัด เป็นต้น

3.หลักการและเหตุผล

โดยปกติ การเขียนหลักการและเหตุผล นิยมเขียนเป็น 3 วรรค บอกถึง สิ่งที่เราต้องการทำ เหตุผล และผลสัมฤทธิ์ โดยวรรคแรกจะกล่าวถึงที่มาที่ไป หรือปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งผมมักจะเขียนถึง พรบ.ที่ให้อำนาจหน้าที่ท้องถิ่นว่าต้องทำเรื่องอะไรบ้าง เข่น พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับปัจจุบัน มาตรา ๑๖ ให้องค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองดังนี้

บางคนอาจจะเริ่มด้วยคำว่า เนื่องจาก… หรือ ตามที่… หรือยอดฮิตคงจะเป็น ปัจจุบัน…

วรรคที่ 2 บอกว่า การแก้ปัญหาที่เราเขียนไปในวรรคหนึ่งนั้นคือ ต้องทำอย่างไร ถ้ามีงานวิจัยก็ยกมาอ้างด้วย มักจะเริ่มด้วยคำว่า เพื่อให้… หรือ ด้วยเหตุนี้… ส่วนวรรคที่ 3 สรุปเข้าสู่จุดหมายของโครงการเลยว่า เราต้องแก้ปัญหาด้วยโครงการนี้ด้วยสิ่งนี้แหละ ไอ้คำว่า ดังนั้น… เนี่ยอยู่วรรค 3 ทั้งนั้น 555 งงมั้ย

4.วัตถุประสงค์

เป็นการระบุถึงเจตจำนงในการดำเนินงานของโครงการ เป็นข้อความที่แสดงถึงความต้องการที่จะทำสิ่งต่างๆ ภายในโครงการให้ปรากฏผลเป็นรูปธรรม ชัดเจน มักเริ่มต้นด้วยคำว่า เพื่อ… โดยมี กริยา สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น แล้วก็กลุ่มเป้าหมาย อยู่ในนั้นด้วย

5.กลุ่มเป้าหมาย

บางคนเขาเขียนแบบระบุเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ ซึ่งเชิงปริมาณก็คือจำนวนผู้เข้าร่วมนั่นเอง ส่วนเชิงคุณภาพคือผลที่จะเกิดขึ้นกับผู้เข้าร่วม ส่วนตัวผมมักเขียนแค่ว่า ใครบ้างที่เข้าร่วม เป็นจำนวนเท่าไร ซึ่งผมเชื่อว่าแนวทางของท้องถิ่นจะเป็นแบบนี้แหละครับ

6.วิธีดำเนินงาน

วิธีดำเนินงานก็คืองาน หรือกิจกรรมที่กำหนดขึ้นเป็นขั้นตอนตามลำดับ เพื่อใช้ปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ ส่วนมากจะนำวัตถุประสงค์มาแยกย่อยเป็นกิจกรรมย่อยๆ หลายๆ กิจกรรม แต่ส่วนมากพวกเรามักจะเขียนในภาพกว้างๆ ยกเว้นเขียนขอเงินภายนอก HA HA

7.สถานที่ดำเนินการ

ให้ระบุสถานที่ที่กิจกรรมนั้นๆ จะทำหรือดำเนินการ เช่น วัด โรงเรียน ห้องประชุม หรือสถานที่ที่เราจัดงาน อย่างเช่นเราจัดโครงการที่มีการศึกษาดูงานด้วย เราก็ระบุไปว่า วันอบรมเราจัดที่ไหน วันที่เราไปศึกษาดูงานเราไปที่ไหน เป็นต้น

8.ระยะเวลาดำเนินการ

ให้ระบุเวลาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนสิ้นสุดโครงการว่าใช้เวลาทั้งหมดเท่าไร ส่วนมากก็จะเป็นลักษณะ “ระหว่างวันที่ … ” หรือระบุวันเดือนปีที่จัดงานลงไปเลย

9.หน่วยงานที่รับผิดชอบ

ให้ระบุว่าใคร หรือหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ บางคนระบุขอบเขตงานลงไปด้วย

10.งบประมาณดำเนินการ

งบประมาณดำเนินการจะบอกทั้งรายรับและรายจ่ายครับ รายรับคือ บอกแหล่งงบประมาณ เช่น จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายขององค์การบริหารส่วนตำบล (อะไร) ประจำปีงบประมาณ (ไหน) แผนงานบริหารงานทั่วไป งานบริหารทั่วไป (สำนักปลัด) หมวดค่าใช้สอย ประเภทรายจ่าย (แบบไหน) เรียกว่าลอกในข้อบัญญัตินั่นแหละครับมาเลย

และต้องบอกด้วยว่า รายจ่ายในการจัดโครงการนี้มีอะไรบ้าง และเราต้องใช้ระเบียบในการจัดอบรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระเบียบที่เกี่ยวข้องมาอ้างอิงด้วยนะครับ ไปหามาเก็บไว้ได้เลย หรือคลิกดูที่นี่

11.ผลที่คาดว่าจะได้รับ

ให้ระบุถึงผลที่คาดว่าจะได้รับหลังการจัดโครงการนี้ ส่วนมากเราจะนำวัตถุประสงค์นั่นแหละครับมาเขียน

หลักๆ ก็จะประมาณนี้ ต่อจากข้อ 11 ก็คือ ผู้เขียนโครงการ ก็คือตัวเราเอง ผู้เสนอโครงการ คือหัวหน้าเรา ผู้เห็นชอบโครงการ คือผู้บังคับบัญชาสูงขึ้นไป อบต.ผมไม่มีกองก็เป็นปลัด แล้วก็ ผู้อนุมัติโครงการ คือนายกนั่นเองครับ

สรุป

เอาล่ะครับ ผมคงพอแค่นี้ก่อน แนะนำพอแค่นึกได้ซึ่งการเขียนโครงการแต่ละองค์กรทำไม่เหมือนกันซะทีเดียว แต่จะมัลักษณะโครงสร้างคล้ายๆ แบบที่ผมแจ้งไปนี่แหละครับ ไม่ต่างกันมากนัก คงจะพอเป็นแนวทางให้นักพัฒนาชุมชนได้บ้างไม่มากก็น้อยล่ะ 555 แล้วพบกันใหม่ครับ

เรื่องที่เกี่ยวข้องที่แนะนำให้อ่าน

โครงการเศรษฐกิจชุมชนตอนที่สอง มีขั้นตอนการกู้ยืมอย่างไรบ้าง

โครงการเศรษฐกิจชุมชน หมู่บ้านละแสน มีความเป็นมายังไง เรียกคืนเงินแบบไหน

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.