ระเบียบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปี 60 มีชื่อเต็มๆ ว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560
มีวงเล็บว่าเป็นฉบับที่ 2 แล้วฉบับที่ 1 ล่ะ ก็ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่า ระเบียบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปี 52 นั่นไงล่ะครับ
ระเบียบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปี 60 ต่างจากปี 52 ยังไง
ในระเบียบฉบับที่ 2 ปี 60 ให้ยกเลิกข้อ 7 ของปี 52 ข้อ 7 ของปี 52 บอกว่า
“ข้อ (7) ภายในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีให้ผู้ที่จะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปในปีงบประมาณถัดไป ลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยตนเองต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนมีภูมิลำเนา ณ สำนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือสถานที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด โดยมีหลักฐานดังนี้
(1) บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่ายพร้อมสำเนา
(2) ทะเบียนบ้านพร้อมสำเนา
(3) สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารพร้อมสำเนา สำหรับกรณีที่ผู้ขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประสงค์ขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านธนาคาร
ในกรณีที่มีความจำเป็น ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถมาลงทะเบียนด้วยตนเองได้ตามวรรคหนึ่ง อาจมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแทนก็ได้
ระเบียบปี 60 เปลี่ยนเป็น
“ให้ผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปในปีงบประมาณถัดไป ลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยตนเองต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนมีภูมิลำเนา ณ สำนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือสถานที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี โดยมีหลักฐานดังต่อไปนี้
(1) บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย พร้อมสำเนา
(2) ทะเบียนบ้าน พร้อมสำเนา
(3) สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร พร้อมสำเนา สำหรับกรณีที่ผู้ขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประสงค์ขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านธนาคาร
ในกรณีที่มีความจำเป็น ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถมาลงทะเบียนด้วยตนเองได้ตามวรรคหนึ่ง อาจมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแทนก็ได้”
เห็นข้อแตกต่างมั้ยครับ ข้อแตกต่างของเรื่องลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของระเบียบปี 52 และระเบียบปี 60 ข้อแรกคือ เรื่องระยะเวลาครับ จากเดิมที่ให้มาลงทะเบียนในเดือนพฤศจิกายน เปลี่ยนเป็นมาลงทะเบียนในเดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน
ข้อสองคือ การนับอายุเพื่อรับลงทะเบียน ซึ่งมันจะย้อนกลับไปสัมพันธ์กับข้อแรก ไปดูหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.6/ว 0541 ลงวันที่ 30 มกราคม 2561 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 นะครับ
หนังสือนี้บอกแนวทางไว้ว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ตามหนังสือก็คือกลุ่มที่เกิดระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2501 จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2502 และผู้ที่อายุครบแล้วแต่ยังไม่เคยลงทะเบียนแล้วก็เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบ คือไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 6 ให้มาลงทะเบียนช่วงนี้แหละ
ข้อแตกต่างที่สามคือ การรับเงิน กลุ่มนี้จะรับเงินในปีงบประมาณ 2562 นี้ แต่เป็นการรับเงินในเดือนถัดไปจากที่ตัวเองมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ รายละเอียดเรื่องพวกนี้เราจะมาคุยกันในโพสต่อไป เนาะ
สรุประเบียบปี 60 การลงทะเบียน ให้ผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบถัดไป มาลงทะเบียนที่ อปท.ได้ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน
อ่านรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติตามระเบียบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ฉบับที่ 2 ได้ที่นี่
การย้ายภูมิลำเนา
มาดูข้อต่อไปที่มีการเปลี่ยนแปลงกัน ซึ่งก็คือข้อ 8 ข้อนี้ว่าด้วยการย้ายภูมิลำเนา ซึ่งระเบียบปี 52 บอกไว้อย่างนี้ครับ
“ข้อ (8) ในกรณีผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหนึ่ง ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เคยจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดิม ยังคงจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจนกว่าจะสิ้นสุดปีงบประมาณนั้น หากมีความประสงค์จะรับเบี้ยยังชีพกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่ ต้องไปลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่ ก่อนสิ้นปีงบประมาณ”
ระเบียบของปี 60 เปลี่ยนข้อความเป็น
“ข้อ (8) ผู้สูงอายุผู้ใด ที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ ต่อมา ผู้สูงอายุนั้นได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ให้ผู้สูงอายุนั้น ไปลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยตนเองต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่ นับตั้งแต่วันที่ย้าย แต่ไม่เกินเดือนพฤศจิกายนของปีนั้นๆ
ทั้งนี้ ให้ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่ในปีงบประมาณถัดไป โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิมที่จ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุผู้นั้นทราบ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน
ทั้งนี้ ในระหว่างปีงบประมาณ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิมที่จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ยังคงจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป จนกว่าจะสิ้นปีงบประมาณ”
สรุประเบียบปี 60 เมื่อมีการย้ายภูมิลำเนา ผู้สูงอายุจะต้องไปลงทะเบียนที่ อปท.ปลายทางอย่าให้เกินเดือนพฤศจิกายนของปีที่ย้ายนั้น และ อปท.ปลายทางจะต้องแจ้งให้ อปท.ต้นทางทราบว่าผู้สูงอายุย้ายมาอยู่ที่นี่แล้วนะท่านอย่าจ่ายนะตัดออกจากระบบสารสนเทศนะ อะไรแบบนี้ หลักๆ จะคล้ายๆ กับของเดิมปี 52 (จากที่ชมรมพัฒนาชุมชนฯ ได้ไปพูดคุยที่กรมส่งเสริม แต่รอหนังสืออย่างเป็นทางการอีกที)
อ่านรายละเอียด ระเบียบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปี 52 กรณีผู้สูงอายุย้ายที่อยู่
ข้อต่อไปที่มีการเปลี่ยนแปลงคือ ข้อ 9 วรรคหนึ่งครับ ระเบียบปี 52 บอกไว้ว่า
“ข้อ 9 ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ให้จังหวัดแจ้งรายชื่อผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตามแบบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการขอตั้งงบประมาณในปีงบประมาณถัดไป”
ระเบียบปี 60 เปลี่ยนเป็น
“ข้อ 9 ภายในเดือนธันวาคมของทุกปี ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง บันทึกรายชื่อผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ในระบบสารสนเทศตามที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนด พร้อมทั้งรายงานจังหวัด เพื่อส่งให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นใช้เป็นข้อมูลในการขอตั้งงบประมาณและจัดสรรงบประมาณ”
สรุประเบียบปี 60 ที่เปลี่ยนแปลงหลักๆ คือ จากเดิมลงทะเบียนในเดือนพฤศจิกายน เปลี่ยนเป็น ลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน และในเดือนธันวาคมให้บันทึกข้อมูลในระบบ ส่วนเรื่องการย้ายต้องมีการประสานงานกันระหว่างต้นทางกับปลายทางเพื่อป้องกันการรับเงินซ้ำซ้อน
ที่จริงเรื่องการย้ายเราต้องมีการประสานกันตั้งแต่ระเบียบเดิมแล้วล่ะครับ ที่ไม่รู้ว่าย้ายก็มี (เช่นย้ายปลายทาง) อันนี้พอเข้าใจ แต่ที่รู้ว่าย้ายแล้วไม่จำหน่ายในระบบเนี่ยสิ มีนะครับบางท่านไม่ยอมทำ ไม่ยอมแจ้ง สงสัยกลัวว่าจะได้เงินไม่ครบ อิอิ แล้วพบกันใหม่ครับ
นักพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รองประธาน ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย)
ลูกของแม่ และเพื่อนของท่าน
Leave a Reply