เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ ในเดือนตุลาคม 60 นี้เราต้องทำอะไรบ้าง

เบี้ยผู้สูงอายุ  เบี้ยความพิการ ในเดือนตุลาคม  60  นี้เราต้องทำอะไรบ้าง

เบี้ยผู้สูงอายุ  เบี้ยความพิการ  ในเดือนตุลาคม  2560  ที่จะถึงนี้  เดือนตุลาคม  2560  ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ  2561  สิ่งที่พวกเรานักพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องดำเนินการก็คือ  การตรวจสอบว่า  ผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ  และผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยความพิการ  เขามีสิทธิรับเงินตามระเบียบข้อ  6  หรือไม่  (ส่วนระเบียบข้อ  7  มีการแก้ไขใหม่ตามระเบียบฉบับที่  2  พ.ศ.  2560  บอกเรื่องของการลงทะเบียน  ท่านทั้งหลายคงได้อ่านแล้ว)

คลิกอ่านระเบียบเบี้ยยังชีพฉบับสองได้ที่นี่

ตรวจสอบว่า  ผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ  และผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยความพิการ  เขาเสียชีวิตหรือยัง  รวมถึง  ให้เขาเหล่านั้นแจ้งความประสงค์กับเราว่า  เขาจะรับเงินเบี้ยยังชีพด้วยวิธีไหน  ระหว่าง  รับเงินสดด้วยตัวเอง  รับเงินสดโดยการมอบอำนาจ  รับเงินผ่านธนาคารในชื่อบัญชีตัวเอง  หรือรับเงินผ่านธนาคารด้วยการโอนไปในบัญชีของผู้รับมอบอำนาจ

ทำไมถึงต้องทำในเดือนตุลาคม

เบี้ยผู้สูงอายุ

ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย  ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  พ.ศ.  2552  และที่แก้ไขฉบับที่  2  พ.ศ.  2560  ข้อ  10  บอกไว้ว่า  “ภายในเดือนตุลาคมของทุกปี  ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตรวจสอบสถานะของผู้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ  และให้ผู้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแสดงการดำรงชีวิตอยู่ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ  โดยจะแสดงด้วยตนเองหรือให้มีการรับรองของนายทะเบียนอำเภอ  หรือนายทะเบียนท้องถิ่นก็ได้

ในกรณีที่ผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่ได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง  ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบการดำรงชีวิตอยู่ของผู้สูงอายุดังกล่าว  จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร  หรือหลักฐานอื่นที่มีสามารถตรวจสอบได้”

และ  ระเบียบกระทรวงมหาดไทย  ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยความพิการให้คนพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  พ.ศ.  2553  และที่แก้ไขเพิ่มเติม  (ฉบับที่  2)  พ.ศ.  2559  ข้อ  10  บอกว่า  “ภายในเดือนตุลาคมของทุกปี  ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตรวจสอบสถานะความพิการ  และการดำรงชีวิตอยู่ของคนพิการ”

การตรวจสอบว่าเขามีสิทธิรับเงินหรือไม่

เขาในที่นี้หมายถึง  ผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ  และผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยความพิการ  นะครับ  ซึ่งในระเบียบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ  ปี  52  บอกคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพไว้ในข้อ  6  ว่าต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามคือ

(1)  มีสัญชาติไทย

(2)  มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามทะเบียนบ้าน

(3)  มีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป  ซึ่งได้ลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(4)  ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ  รัฐวิสาหกิจ  หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ได้แก่  ผู้รับเงินบำนาญ  เบี้ยหวัด  บำนาญพิเศษ  หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน  ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ผู้ได้รับเงินเดือน  ค่าตอบแทน  รายได้ประจำ  หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ  ยกเว้นผู้พิการและผู้ป่วยเอดส์ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  พ.ศ. ๒๕๔๘

ข้อสังเกตคือ  ข้อ  (2)  ไม่ต้องตรวจสอบคุณสมบัติข้อนี้ก็ได้นะครับ  เพราะตอนที่เขามาลงทะเบียนเป็นการลงทะเบียนล่วงหน้า  เขาลงทะเบียนเสร็จเขาย้ายไปที่อื่นเขาก็รับเงินเบี้ยยังชีพกับเราอยู่นั่นเอง

ส่วนระเบียบเบี้ยความพิการ  ปี  53  และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่  2  ปี  59  บอกคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยความพิการ  ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามคือ

(1)  มีสัญชาติไทย

(2)  มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามทะเบียนบ้าน

(3)  มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ

(4)  ไม่เป็นบุคคลซึ่งอยู่ในความอุปการะของสถานสงเคราะห์ของรัฐ

วิธีการตรวจสอบที่พวกเรานักพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนมากทำกันก็คือ  ออกหนังสือประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิทั้งผู้สูงอายุ  คนพิการ  มาแสดงตนตามสถานที่ที่กำหนด  บาง  อปท. อาจจะลงพื้นที่ไปรับแสดงตนกันถึงที่  บางแห่งก็อาจจะแจ้งให้ผู้สูงอายุ  และคนพิการมาแสดงตนที่สำนักงาน  อปท.แห่งนั้น

ใครที่ยังไม่ทราบว่า  การแสดงตนเพื่อรับเบี้ยยังชีพ  ต้องทำยังไงบ้าง  แนะนำให้ไปอ่านเรื่อง  การแสดงตน  ก่อนเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นครับ  การแสดงตนในแต่ละพื้นที่ทำไม่เหมือนกัน  ซึ่งก็แล้วแต่เทคนิคการบริหารจัดการของใครของมัน  บางแห่งตรวจสอบจากทะเบียนราษฎร์ก็พอแล้ว  บางแห่งเรียกเฉพาะกลุ่มที่รับเงินผ่านทางธนาคารมาเพราะมองว่ากลุ่มนี้มีโอกาสสูงที่จะผิดพลาด  บางแห่งเรียกเฉพาะคนพิการเท่านั้นก็มี

ที่สำคัญคือ  ตรวจสอบว่า  ผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพ  เสียชีวิตแล้วหรือยัง

แล้วถ้าเราตรวจสอบเจอล่ะ  เราจะทำยังไง  ก็เรียกเงินคืนสิครับ  พอตอบไปอย่างนี้หลายคนบอกว่า  งั้นทำไมไม่ทำการตรวจสอบคุณสมบัติและตรวจสอบสถานะในเดือนก่อนตุลาคมล่ะ  ในเมื่อถ้าตรวจเจอข้อผิดพลาดเรายังต้องเรียกเงินคืน  แล้วการเรียกเงินคืนมันทำง่ายแต่มักไม่ค่อยได้คืน  แต่ถ้าเราทำก่อนเดือนตุลาคม  พอเราจ่ายเงินเราก็ป้องกันได้  ไม่ว่ากันครับ  ฮา  ฮา

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.