โครงการเศรษฐกิจชุมชน มีความเป็นมายังไง เรียกคืนเงินแบบไหน

โครงการเศรษฐกิจชุมชน หมู่บ้านละหนึ่งแสน นักพัฒน์รุ่นใหม่ที่เพิ่งเปลี่ยนสายงานมา หรือเพิ่งได้รับการบรรจุเข้ามารับราชการในองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. คงไม่รู้เรื่องโครงการนี้ หรือถึงรู้ก็ไม่รู้รายละเอียดหรอกครับว่า เมื่อก่อน อบต.เรามีโครงการให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันกู้เงินไปทำกิจกรรมในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงหมู่บ้านละหนึ่งแสนบาท

ในตอนนั้นเศรษฐกิจในบ้านเมืองเราเป็นแบบนี้แหละครับ มันเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วประเทศ เกิดการเคลื่อนย้ายประชากรจากเมืองกลับสู่ถิ่นฐานในชนบทจำนวนมาก กระทรวงมหาดไทยจึงนำเอาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนพึ่งพาตนเอง เพื่อแก้ไขปัญหา

โครงการเศรษฐกิจชุมชน ทำไมต้องหมู่บ้านละแสน มากกว่าได้มั้ย

โครงการเศรษฐกิจชุมชน

ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดำเนินการโครงการเศรษฐกิจชุมชน พ.ศ. 2541 กำหนดวงเงินไว้ให้กู้ยืมมีทั้งเกินแสนบาท และไม่เกิน 100,000 บาท ถ้าหากว่าเกินหนึ่งแสนบาท คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติจะเป็นกรรมการระดับอำเภอ หรือระดับจังหวัด แล้วแต่วงเงิน

แต่ถ้าขอกู้ในวงเงินไม่เกินหนึ่งแสนบาท คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติโครงการคือระดับ อบต. เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า กลุ่มอาชีพ/กลุ่มเกษตรกร มักจะขอกู้ในวงเงินขนาดนี้ล่ะ เพื่อที่จะไม่ต้องไปถึงกรรมการระดับอำเภอหรือจังหวัด ที่เมื่อไปแล้วอาจจะไม่ได้รับการอนุมัติ 555

ทีนี้ขั้นตอนในการยื่นขอกูเงินไม่มีอะไรยากเลยครับ เมื่อกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มเกษตรกรที่ประสบปัญหาเงินทุนหมุนเวียนกระทรวงมหาดไทยจัดเงินทุนหมุนเวียนให้เงินช่วยเหลือประกอบอาชีพ โดยไม่มีดอกเบี้ย แต่ต้องนำเงินคืนภายใน 5 ปี (แต่ถ้าผิดนัด ไม่คืนเงินตามสัญญา จะต้องจ่ายดอกเบี้ยตามอัตราที่กฏหมายกำหนดไว้นะ)

โครงการเศรษฐกิจชุมชน

กลุ่มอาชีพ/หลุ่มเกษตรกร ที่ต้องการขอยืมเงินทุนโครงการเศรษฐกิจชุมชน จะต้องทำแบบคำร้องขอกู้เงินตามแบบฟอร์มที่กำหนดไว้ในระเบียบและโครงการเสนอต่อคณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้านก็จะพิจารณาว่า กลุ่มอาชีพ/กลุ่มเกษตรกรที่เสนอโครงการขอกู้เงินมีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่บ้านจริงมั้ย

แล้วก็นำโครงการที่จะขอกู้เงินเข้าพิจารณาในเวทีประชาคมหมู่บ้าน เพื่อร่วมกันพิจารณาความสำคัญ ความจำเป็น ความเหมาะสมของโครงการ ถ้าหากว่าในหมู่บ้านนั้นมีกลุ่มเสนอโครงการเข้าไปมากกว่าหนึ่งโครงการ ก็ให้เวทีประชาคมหมู่บ้านช่วยกันพิจารณาแล้วก็จัดเรียงลำดับความสำคัญไว้

เสร็จแล้วก็ส่งโครงการที่ผ่านการพิจารณาแล้ว เสนอองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. พิจารณา อบต.ก็จะพิจารณาโครงการที่ได้รับมาจากคณะกรรมการหมู่บ้านต่างๆ ภายในตำบล ถ้าโครงการนั้นเป็นไปตามระเบียบ และอยู่ในอำนาจหน้าที่ ที่คณะกรรมการ อบต.สามารถพิจารณาได้ ก็จะพิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่

เมื่อกรรมการอนุมัติแล้ว ก็ให้กลุ่มมาทำสัญญากู้ยืมเงิน สัญญานี้ทำขึ้น 4 ชุดครับ ให้เก็บไว้ที่กลุ่ม 1 ที่ อบต. 1 ที่กรรมการพัฒนาอำเภอ 1 กรรมการพัฒนาจังหวัด 1 

ดูข้อบกพร่องโครงการเศรษฐกิจชุมชน

การติดตามเร่งรัดการส่งเงินคืน หน้าที่นักพัฒน์หรือการเงิน

อย่างที่นักพัฒน์รุ่นเก๋าทราบดีครับในการกู้ยืมเงินจากโครงการเศรษฐกิจชุมชน มีเวลาในการคืนเงินอยู่ที่ 5 ปี ตามรายละเอียดในคำร้องขอกู้และในสัญญากู้เงิน ถ้าหากว่ากลุ่มไม่นำส่งเงินคืนตามระยะเวลาที่กำหนด อบต. จะต้องทวงเป็นหนังสือไปยังกลุ่ม

ใครเป็นคนทวง นักพัฒน์หรือการเงิน

คำถามนี้ไม่มีสูตรสำเร็จหรอกครับว่าใครจะเป็นคนทวง อยู่ที่เราจะคุยกัน บางแห่งนักพัฒน์ บางแห่งการเงิน บางแห่งผสมผสานกันไป เช่น หนังสือออกจากคลัง แต่นักพัฒน์เป็นคนกล่อม เป็นคนอธิบายถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่ม อะไรแบบเนี้ยครับ มันอยู่ที่การคุยกันจริงๆ ว่าจะเป็นแบบไหน

และในปัจจุบัน แต่ละ อบต. มีศูนย์ยุติธรรมตำบล ของกระทรวงยุติธรรมเขามาฝากไว้ที่พวกเราอยู่แล้วครับ ถ้าหากว่ามีกลุ่มที่ผิดนัดไม่มาคืนเงินตามสัญญา ผมแนะนำให้พวกเราใช้บริการของศูนย์นี้ได้เลยครับ

กรณีศึกษาการเรียกคืนเงินทุนโครงการเศรษฐกิจชุมชน

โครงการเศรษฐกิจชุมชน

ถ้าเป็นเคสแบบนี้ ต้องเป็นเคส (แคลสสิค) หารือ การเรียกคืนเงินทุนโครงการเศรษฐกิจชุมชน พ.ศ. 2541 จังหวัดอุดรธานี ที่ อบต.หนองบัวบาน อำเภอหนองวัวซอ หารือว่า กลุ่มผิดนัดส่งคืนเป็นเวลา 7 ปี การคิดดอกเบี้ยคิดเท่าไร ยังไง ลดได้มั้ย แล้วมันหมดอายุความแล้วต้องทำยังไงต่อ

กระทรวงมหาดไทย ตอบมาว่า การคิดดอกเบี้ยสำหรับกลุ่มที่ผิดนัดสัญญา กำหนดไว้ร้อนละ 7.5 ต่อปี ส่วนการลดดอกเบี้ยสำหรับกลุ่มที่ผิดสัญญา ให้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดำเนินงานโครงการเศรษฐกิจชุมชน พ.ศ. 2541 ข้อ 24 ไม่สามารถขอลดดอกเบี้ยที่ผิดสัญญาได้

อีกกรณีหนึ่งคือ การหมดอายุความ ให้นำประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และมาตรา 193/33 มาพิจารณาว่า กรณีที่ผิดนัดชำระหนี้ ต้องคืนเงินต้น หรือดอกเบี้ย ตั้งแต่เมื่อใด

ซึ่งระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดำเนินงานโครงการเศรษฐกิจชุมชน พ.ศ. 2541 ข้อ 24 และหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0310.3/ว 2287 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2554 ได้แจ้งซักซ้อมแนวทางการดำเนินงานโครงการเศรษฐกิจชุมชน พ.ศ. 2541 ตามผลการตรวจสอบของ สตง. ปี 2554 โดยให้ อบต. ตั้งงบประมาณเท่าจำนวนเงินที่ทางราชการเสียหาย ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ชดใช้คืนกองทุนโครงการเศรษฐกิจชุมชน พ.ศ. 2541

ถ้าหากว่า อบต. ตั้งงบประมาณชดใช้คืนกองทุนแล้ว เกิดความเสียหายขึ้นเนื่องจากคดีขาดอายุความ ให้ อบต.ดำเนินการตาม พรบ.ความผิดทางละเมิดต่อไป

นี่ผมสรุปให้แบบใช้ภาษาบ้านๆ นะครับ จะได้เข้าใจง่าย

อ่านเรื่องอื่นๆ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.