ผู้สูงอายุรับบำนาญ มีแนวทางเรียกเงินคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง

ผู้สูงอายุรับบำนาญ ที่รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากเรา เรามีวิธีหรือแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับการเรียกเงินคืนจากผู้สูงอายุที่รับบำนาญจากรัฐอย่างไร บางคนถามหาตัวอย่างหนังสือที่เรียกเงินคืนด้วย พร้อมกับแอบบอกมาด้วยว่า ขอเป็นไฟล์เวิร์ดนะ HA HA

ผู้สูงอายุรับบำนาญ

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา มีหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.6/ว 2032 ลงวันที่ 3 เมษายน 2563 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเรียกเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืนจากผู้สูงอายุที่รับบำนาญจากหน่วยงานของรัฐ ออกมา

หนังสือนี้ออกมาเพราะว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต. หรือเทศบาล หารือไปที่กรมส่งเสริมฯ ครับ กระทรวงมหาดไทยจึงวางแนวทางเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือปฏิบัติ เพื่อให้ถูกต้องตามหลักกฏหมาย

ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 บอกคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไว้ใน ข้อ 6 (4) ว่า

“ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการ หรือ สิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ…”

ซึ่งถ้าผู้สูงอายุที่รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคนใด ได้รับสวัสดิการ หรือ สิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน เน้นย้ำตรงนี้ครับ ไม่ว่าจะเรียกว่าเงินอะไร แต่ถ้าเป็นแบบเดียวกันกับในระเบียบนี้ คือขาดคุณสมบัติครับ

อย่างเช่น หลายคนทำหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานของทหารผ่านศึก แล้วเขาตอบกลับมาว่า เงินที่ทหารผ่านศึกได้รับในแต่ละเดือน ไม่ใช่เงินบำนาญ ไม่ใช่ ผู้สูงอายุรับบำนาญ แต่มันก็เป็นเงินจากหน่วยงานของรัฐที่จ่ายให้เป็นประจำทุกเดือนอ่ะครับ

รวมถึง ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ ถือว่า เป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จึงไม่มีสิทธิในการรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุรับบำนาญ

ผู้สูงอายุรับบำนาญ ให้เรียกเงินคืนตามแนวทาง 3 ข้อนี้

หากได้รับโดยไม่มีสิทธิ มันเป็นการได้โดยไม่มีมูลที่จะอ้างกฏหมายได้ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสียเปรียบ จึงเข้าลักษณะ 4 ลาภมิควรได้ แห่งประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทันที จากนั้นให้ดำเนินการเรียกเงินคืน โดยมีรายละเอียดอย่างนี้ครับ

ข้อหนึ่ง ถ้าผู้สูงอายุที่รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปโดยไม่มีสิทธิ มีความประสงค์จะคืนเงินนั้นให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดในครั้งเดียว ให้ดำเนินการตามมาตรา 406 แห่งประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 406  บอกไว้ว่า “บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดี หรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา อนึ่ง การรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่หรือหาไม่นั้น ท่านก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ด้วย บทบัญญัติอันนี้ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่ได้ทรัพย์มา เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้น หรือเป็นเหตุที่ได้สิ้นสุดไปเสียก่อนแล้วนั้นด้วย”

คือต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ แล้วก็ใช้หนี้ นั่นแหละครับ

แต่ถ้าผู้สูงอายุรายนั้น ไม่คืน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถฟ้องเรียกคืนเงินจากผู้สูงอายุได้ ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรู้ว่ามีสิทธิเรียกเงินคืน

ผู้สูงอายุรับบำนาญ

ข้อสอง ผู้สูงอายุที่รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปโดยไม่มีสิทธิ แต่ไม่มีเงินที่จะคืนในครั้งเดียว ก้อนเดียว แล้วขอผ่อนชำระเงินนั้นแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามระยะเวลาที่ได้ตกลงกัน กรณีอย่างนี้ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตาม ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการผ่อนชำระหนี้ กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือทายาทได้รับเงินเกินสิทธิ หรือได้รับเงินไปโดยไม่มีสิทธ โดยอนุโลม

และให้ทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ และสัญญาผ่อนชำระหนี้ ที่เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่าง ผู้สูงอายุที่รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปโดยไม่มีสิทธิ หรือผู้แทน กับ ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ข้อสาม ถ้าหากว่า ผู้สูงอายุที่รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปโดยไม่มีสิทธิเสียชีวิต หรือตาย ทรัพย์สินทุกชนิด รวมทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆ ย่อมตกทอดแก่ทายาท ตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรค หนึ่ง

กฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 บอกว่า

“มาตรา 1599 เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท
ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น”

ประกอบกับมาตรา 1600 ให้บังคับชำระหนี้อันเกิดจากลาภมิควรได้นั้นจากทายาท ได้เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทนั้นได้รับไป ตามมาตรา 1738

มาตรา 1600  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้

มาตรา 1738  ก่อนแบ่งมรดก เจ้าหนี้กองมรดกจะบังคับชำระหนี้เต็มจำนวนจากกองมรดกก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ทายาทคนหนึ่ง ๆ อาจเรียกให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก หรือให้เอาเป็นประกันก็ได้จนถึงเวลาแบ่งมรดก
เมื่อแบ่งมรดกแล้ว เจ้าหนี้อาจเรียกให้ทายาทคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นได้รับไป ในกรณีเช่นนี้ ทายาทคนใดซึ่งได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กองมรดกเกินกว่าส่วนที่ตนจะต้องเฉลี่ยใช้หนี้ ทายาทคนนั้นมีสิทธิไล่เบี้ยจากทายาทคนอื่นได้

สรุปแนวทางการเรียกเงินคืน

ถ้ายอมคืนครั้งเดียว ก้อนเดียว ทำหนังสือรับสภาพหนี้ ถ้าไม่ยอม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถฟ้องศาลได้ เหมือนอย่างที่เพื่อนพวกเราที่จังหวัดอ่างทองทำมาแล้ว

ถ้ายอมคืน แต่ไม่มีเงินก้อน สามารถผ่อนชำระได้ โดยทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญา ระหว่างผู้สูงอายุ หรือ ผู้แทน กับ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ถ้าผู้สูงอายุตาย ทายาทรับผิดชอบ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.