แนวทางการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปีงบ 2565 มีหนังสือซักซ้อมออกมาแล้ว

แนวทางการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปีงบ 2565

แนวทางการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปีงบ 2565 แจ้งเป็นหนังสือซักซ้อมออกมาแล้วนะครับ รวมถึงเบี้ยความพิการของคนพิการด้วย มีหนังสือออกมาเมื่อวันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมานี้เอง

หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.6/ว 2499 ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2564 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามโครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-payment)

หนังสือฉบับนี้บอกแนวทางการดำเนินการ การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยความพิการ แยกเป็นประเด็นๆ ไป และยังบอกรายละเอียดต่อด้วยว่า ถ้าเป็น อบต.ต้องทำอย่างไร เป็นเทศบาลตำบลต้องทำอย่างไร เทศบาลเมืองต้องทำอย่างไร เทศบาลนครต้องทำอย่างไร

แนวทางการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปีงบ 2565 แยกเป็นประเด็นง่ายๆ

ผมจะพยายามอธิบายเป็นภาษาพูดง่ายๆ ครับ เพื่อที่พวกเราจะได้เข้าใจง่ายๆ บางครั้งอาจจะไม่ใช่คำพูดแบบเดียวกับในหนังสือราชการนะครับ โดยแยกเป็นประเด็นไปตามหนังสือนั่นแหละ

แนวทางการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปีงบ 2565

1.อปท.ไม่ได้คีย์ข้อมูลในระบบ หรือคีย์แล้วไม่มีข้อมูลเบิกจ่ายจากกรมบัญชีกลาง หรือคีย์เลขบัตรผิด หรือระบบตัดเสียชีวิตแต่ยังมีชีวิตอยู่

แนวทางการดำเนินการสำหรับ อบต. และเทศบาลตำบล คือ ให้เบิกจ่ายเงินเบี้ยยังชีพตามประกาศรายชื่อ ประจำปีงบประมาณ 2565 ที่เราประกาศออกไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 นั่นแหละครับ โดยเบิกจ่ายตามข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติไปก่อน ในเดือนตุลาคม และเดือนพฤศจิกายน

เมื่อระบบสารสนเทศเบี้ยยังชีพเปิดระบบให้คีย์ข้อมูลย้อนหลัง ในระหว่างวันที่ 1-25 พฤศจิกายน 2564 ก็ให้เราเข้าไปคีย์แก้ไขในระบบให้ถูกต้อง ทั้งของปี 2565 และของปี 2566 ด้วย ระบบจะดึงข้อมูลไปให้กรมบัญชีกลางจ่ายในเดือนถัดไปคือเดือนธันวาคม ส่วนเงินที่เราจ่ายไปตามข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติสองเดือนนั้น เราก็ไปขอคืนจากกรมส่งเสริมในช่วงประมาณกรกฎาคม

ส่วนแนวทางในการดำเนินการของเทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ก็ทำเหมือนกันกับแนวทางของ อบต.และเทศบาลตำบลครับ คือ ให้เบิกจ่ายจากเทศบัญญัติไปก่อน แล้วเมื่อระบบเปิดให้บันทึกข้อมูงย้อนหลังก็เข้าไปบันทึกทั้งของปี 2565 และ 2566 จะแตกต่างจาก อบต.และเทศบาลตำบลคือ ขอคืนเงินที่จ่ายไปไม่ได้ เพราะคุณเป็นหน่วยรับงบประมาณตรงจากสำนักงบประมาณ

2.การย้ายภูมิลำเนาของผู้สูงอายุและคนพิการระหว่างปีงบประมาณ

ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบการย้ายภูมิลำเนาจากระบบสารสนเทศเบี้ยยังชีพ เมนู “ข้อมูลส่งกรมบัญชีกลาง” หรือตรวจสอบจากระบบของกรมบัญชีกลางเป็นประจำทุกเดือน ถ้าหากมีการย้ายให้ อปท.เดิมจำหน่ายในระบบสารสนเทศ แล้วทำหนังสือแจ้ง อปท.ใหม่ เพื่อจะได้ติดตามผู้สูงอายุมาลงทะเบียน

ในการย้ายมันจะมีปัญหาให้พวกเราปวดหัวเป็นประจำคือ ผู้สูงอายุย้ายในปีงบประมาณ 2564 แต่ อปท.เดิมไม่ยอมจำหน่ายในระบบให้ จะด้วยไม่รู้ว่าย้ายหรืออะไรก็ตาม ทำให้ อปท.ใหม่ไม่สามารถบันทึกข้อมูลในระบบได้ และทำให้ส่งข้อมูลให้กรมบัญชีกลางเบิกจ่ายให้ไม่ได้ ตอนนี้ระบบเปิดให้บันทึกย้อนหลังแล้วครับ อปท.เดิมต้องจำหน่าย อปท.ใหม่ต้องบันทึกในระบบทั้งปี 2565 และ 2566

ประสานกันครับ ระหว่าง อปท.เดิม กับ อปท.ใหม่ ในการอธิบายให้กันฟัง ใช้หนังสือตัวนี้แหละครับ จะได้เข้าใจตรงกัน

แต่ถ้า อปท.ใหม่ไม่ได้บันทึกข้อมูลผู้สูงอายุ หรือคนพิการ ทำให้ไม่มีข้อมูลสำหรับเบิกจ่ายเงินของกรมบัญชีกลางในเดือนถัดไปคือเดือนธันวาคม ให้ อปท.เดิมประสาน อปท.ใหม่บันทึกข้อมูลในระบบ ในระหว่างที่ อปท.ใหม่ยังไม่บันทึก ให้ อปท.เดิมเบิกจ่ายตามประกาศของปี 2565 ตามข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติไปก่อน

ส่วนเรื่องย้ายในปีงบ 2564 แล้วมาลงทะเบียนที่ อปท.ใหม่ เดือนพฤศจิกายน 2564 เราค่อยมาคุยกันอีกครั้งครับ

3.โอนเงินให้ผู้สูงอายุหรือคนพิการผิดบัญชี

การโอนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหรือเบี้ยความพิการ ให้ผู้สูงอายุหรือคนพิการผิดบัญชี เนื่องจากพวกเรากรอกข้อมูลผิด ทำให้ข้อมูลในระบบสารสนเทศเบี้ยยังชีพผิดพลาด ทำให้กรมบัญชีกลางโอนเงินไปผิดบัญชี

แนวทางการดำเนินการต้องทำอย่างนี้ครับ

ถ้าเป็นการโอนผิดบัญชี โดยโอนไปบัญชีผู้อื่นใน อปท.เดียวกัน ให้ตรวจสอบและเรียกเงินคืน เพื่อนำเงินไปจ่ายให้ผู้มีสิทธิ แต่ถ้าเป็นการโอนไปบัญชีอื่น บุคคลอื่น นอกพื้นที่ของเรา หรือเป็น อปท.อื่น ให้ตรวจสอบและเรียกเงินคืนเพื่อนำไปจ่ายให้กับผู้มีสิทธิ

แต่ถ้าไม่สามารถเรียกคืนได้ ให้รายงานข้อเท็จจริง พร้อมเอกสารหลักฐานมาจังหวัด เพื่อจังหวัดจะส่งต่อมาที่กรมส่งเสริม และประสานกรมบัญชีกลางเรียกคืนต่อไป แล้วให้ อปท.แห่งนั้นเบิกจ่ายเงินจากข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติจ่ายให้เขาไปก่อน เมื่อกรมบัญชีกลางเรียกคืนได้แล้วจะโอนคืนคลัง อปท.ต่อไป

4.เลขบัตรของผู้มีสิทธิมีสถานะเป็นผู้รับบำนาญ

เคยเจอใช่มั้ยครับ บัญชีกลางดึงข้อมูลไปจ่ายเป็นประจำ อยู่ดีๆ ข้อมูลส่งกรมบัญชีกลางก็แจ้งมาว่า เลขบัตรนี้ นายคนนี้เป็นผู้รับบำนาญจากนั่นโน่นนี่ ถ้าเป็นแบบนี้ให้เราตรวจสอบครับ ถ้าไม่ได้เป็นไปตามที่กรมบัญชีกลางแจ้งมา ให้รายงานข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารหลักฐานผ่านจังหวัดไปยังกรมส่งเสริม เพื่อประสานกรมบัญชีกลางในการดำเนินการต่อไป

และให้ อปท.ใช้งบประมาณตามข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ เบิกจ่ายให้ผู้มีสิทธิไปก่อน เมื่อกรมบัญชีกลางตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่ได้เป็นผู้รับบำนาญ ให้ อปท.แก้ไขข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เพื่อที่จะให้กรมบัญชีกลางเบิกจ่ายในเดือนถัดไปหลังจากที่ได้แก้ไขข้อมูลแล้ว

5.ผู้สูงอายุหรือคนพิการตาย ทายาทไปปิดบัญชี ทำให้โอนเงินไม่ได้

ผู้สูงอายุหรือคนพิการที่เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินตาย แต่เขาตายหลังวันที่ 1 คือเขามีชีวิตอยู่ในวันที่ 1 เขามีสิทธิที่จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพในเดือนนั้น แต่ว่าทายาทลูกหลานของเขาดันไปปิดบัญชีธนาคาร พอกรมบัญชีกลางโอนเงินในวันที่ 10 โอนไม่ได้ มีวิธีการในการดำเนินการอย่างนี้ครับ

ถ้าเป็นการเบิกจ่ายในเดือนตุลาคมถึงเดือนสิงหาคม ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแก้ไขเลขบัญชี โดยนำเลขบัญชีของทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับเงินไปบันทึกลงในระบบ และกดยืนยันในระบบเพื่อที่กรมบัญชีกลางจะได้ดำเนินการจ่ายให้ในเดือนถัดไป

แต่ถ้าเป็นเดือนกันยายน ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเบิกจ่ายจากข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ ไปก่อน แล้วกรมบัญชีกลางจะโอนเงินที่โอนไม่สำเร็จกลับมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเงินเหลือจ่ายที่เราเห็นนั่นแหละครับ

ทั้งนี้เราจะต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิ หรือทายาท หรือผู้รับมอบอำนาจ ทราบว่า อย่าปิดบัญชีธนาคารก่อนวันที่ 10

6.วันเดือนปีเกิดของผู้รับเบี้ยไม่ตรงกับกรมการปกครอง

เมื่อข้อมูลส่งกรมบัญชีกลางในระบบสารสนเทศเบี้ยยังชีพแจ้งเรามาว่า วันเดือนปีเกิดของผู้สูงอายุหรือคนพิการที่รับเบี้ยยังชีพไม่ตรงกับการตรวจสอบข้อมูลของกรมการปกครอง ให้เราตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนครับ บางครั้งเขาอาจไปเปลี่ยนวันเดือนปีเกิดมาก็ได้ หรือเขาย้ายไปที่อื่นแล้วที่ใหม่บันทึกวันเดือนปีเกิดเขาผิด มันก็มาฟ้องในระบบเราได้ครับ หรือเราบันทึกผิดเองจริง

ถ้าได้รับแจ้งเตือนมาในเดือนตุลาคมถึงเดือนสิงหาคมของปีงบประมาณ ให้เราแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องและไปกดยืนยันในระบบสารสนเทศเบี้ยยังชีพ เพื่อที่กรมบัญชีกลางจะได้จ่ายในเดือนถัดไป แต่ถ้าได้รับการแจ้งเตือนมาในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ ให้เราเบิกจ่ายจากข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติไปก่อนครับ แล้วกรมบัญชีกลางจะโอนคืนให้เราเป็นเงินเหลือจ่ายต่อไป

7.ผู้สูงอายุไม่ได้บริจาค แต่ไปติ๊กบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการผิดพลาด ผู้สูงอายุไม่ได้มีความประสงค์จะบริจาคเงินเบี้ยยังชีพ แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปบันทึกในระบบสารสนเทศเบี้ยยังชีพว่า บริจาค ซึ่งกรมบัญชีกลางจะโอนเงินเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุรายนี้เข้าบัญชีบริจาค ทำให้ผู้สูงอายุไม่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

แนวทางสำหรับเคสแบบนี้คือ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เบิกจ่ายเงินจากข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ ไปให้ผู้สูงอายุก่อน แล้วประสานไปยัง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเพื่อขอเงินคืน แล้วคืนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป

8.การรายงานผู้ที่บริจาคเงินเบี้ยยังชีพ

การรายงานผู้มีสิทธิที่บริจาคเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เราจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ที่บริจาคเบี้ยยังชีพ แจ้งให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทราบทุกเดือน โดยแนบเอกสารการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของ พมจ.จากรายงานของกรมบัญชีกลาง

9.การโองเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือเบี้ยความพิการ เข้าบัญชีเรือนจำ

การโอนเงินผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ ที่ติดคุกเข้าบัญชีธนาคารของเรือนจำ โดยผู้มีสิทธิมอบอำนาจให้ผู้บัญชาการเรือนจำ แล้วชื่อบัญชีมันยาวมาก ระบบของกรมบัญชีกลางไม่สามารถประมวลผลได้ ให้เราเปลี่ยนชื่อบัญชีในระบบสารสนเทศเบี้ยยังชีพเป็นชื่อเรือนจำสั้นๆ แทน เช่น เรือนจำอุดรธานี เพื่อให้ระบบของกรมบัญชีกลางประมวลผลเบิกจ่ายได้

10.การเบิกจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการกรณีจ่ายเป็นเงินสด

กรณีที่ผู้สูงอายุ และคนพิการรับเบี้ยยังชีพเป็นเงินสด เมื่อถึงกำหนด หรือใกล้ถึงกำหนดที่จะต้องจ่ายเงิน เราสามารถเบิกจ่ายเงินได้ตามข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ ไปก่อนได้ ตามจำนวนผู้มีสิทธิที่เราได้ประกาศรายชื่อไว้ในปีงบประมาณ โดยก่อนจ่ายเงินให้เราตรวจสอบจากรายงานการตรวจสอบของกรมการปกครองในระบบสารสนเทศเบี้ยยังชีพ ซึ่งกรมบัญชีกลางจะโอนให้เราในวันที่ 10 ของเดือน

11.ตรวจพบภายหลังว่าจ่ายเงินให้ผู้สูงอายุหรือคนพิการผิด โดยจ่ายให้ผู้ไม่มีสิทธิ

กรณีตรวจสอบในภายหลัง พบว่ามีการจ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุและคนพิการไปโดยไม่มีสิทธิ ให้เราเรียกเงินคืนและส่งคืนโดยเร็ว ถ้าเป็นการเรียกคืนในปีงบประมาณ ให้ส่งคืนกรมบัญชีกลาง ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.6/ว 1174 ลงวันที่ 14 เมษายน 2563 ดังแสดงไว้ด้านล่างนี้ ถ้าเป็นการเรียกคืนข้ามปีงบประมาณ ให้เราคืนเป็นเงินรายได้แผ่นดิน

[embeddoc url=”https://phorchor.com/wp-content/uploads/2021/10/14-4-63.pdf”]

12.การโอนเงินไม่สำเร็จในเดือนกันยายน เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ

ในเดือนกันยายน เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ ให้เราตรวจสอบผลการโอนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยความพิการ หากพบว่ามีการโอนเงินไม่สำเร็จ ผู้สูงอายุ และคนพิการไม่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพ ให้เราเบิกจ่ายจากข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติไปก่อน แล้วกรมบัญชีกลางจะดำเนินการโอนเงินงวดเดือนกันยายนที่เบิกไม่สำเร็จเข้าบัญชีอุดหนุนทั่วไปของเราต่อไป

13.กรณีผิดพลาดอื่นๆ

การระงับสิทธิกรณีผิดพลาดอื่น ที่พวกเราองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่สามารถแก้ไขได้ ให้พวกเราตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานผ่านจังหวัดไปยังกรมส่งเสริม พร้อมแนบเอกสารหลักฐานไปด้วย และถ้ากรณีผิดพลาดนั้นไม่สามารถดำเนินการตกเบิกในระบบสารสนเทศเบี้ยยังชีพได้ ให้เราเบิกจ่ายเงินจากข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติไปก่อน แล้วค่อยขอรับจากกรมส่งเสริมภายหลัง

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

หนังสือซักซ้อมแนวทางการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ

ลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปีงบประมาณ 2565

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.