ขั้นตอนการรับลงทะเบียนผู้สูงอายุ เพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผมเขียนบอกไว้เป็นประจำทุกปีครับ ปีนี้ก็จะเป็นอีกปีหนึ่งซึ่งพวกเราที่ทำงานด้านนี้จะรู้อยู่แล้วว่า การลงทะเบียนผู้สูงอายุเป็นการลงทะเบียนล่วงหน้า ลงทะเบียนปี 2566 รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปีงบประมาณ 2568 ซึ่งก็คือเริ่มเดือนตุลาคม 2567
แล้วหนังสือซักซ้อมแนวทางการรับลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ออกมาในปีนี้ถือว่าดี ชัดเจนกว่าทุกปีครับ มีระบุไว้ด้วยว่า ผู้สูงอายุที่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามระเบียบข้อ 6(4) การรับลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ ณ วันที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
จะได้ไม่ต้องโทรถามนะครับว่า รับลงมั้ย HA HA
ขั้นตอนการรับลงทะเบียนผู้สูงอายุ
ทุกครั้งที่เขียนบอกในแต่ละปี ผมจะบอกตามหนังสือสั่งการครับว่าเขาให้เราทำอะไรบ้าง แต่ปีนี้จะเล่าให้ฟังว่า ตามที่ผมทำ ผมทำอย่างไร จะทำแบบผมก็ได้ ไม่ทำแบบผมก็ได้ จะนำเอาแบบไปปรับใช้ยิ่งดี ไม่ว่ากันอยู่แล้ว
1.เตรียมรายชื่อผู้สูงอายุ
การเตรียมรายชื่อผู้สูงอายุก็คือ การทำหนังสือไปขอรายชื่อผู้สูงอายุจากงานทะเบียนนั่นเองครับ ใครที่ทำงานอยู่เทศบาลก็จะสะดวกหน่อย ใครที่ทำงานอยู่ อบต.ต้องขอจากอำเภอ ซึ่งเดี๋ยวนี้ยากสักหน่อย เพราะเขากังวลเรื่องเลขบัตร แต่ก็ได้นะครับ ได้มาเฉพาะชื่อของผู้สูงอายุ เลขบัตรประชาชนไม่มีมาให้ ก็ไม่เป็นไร เราแค่ต้องการรู้ว่าใครบ้าง เพื่อจะได้ตามมาลงทะเบียน เท่านั้นเอง เมื่อได้รายชื่อมาแล้ว ผมพิมพ์รายชื่อแยกตามหมู่บ้าน แล้วฝากผู้ใหญ่บ้านให้ประชาสัมพันธ์ให้
2.ประชาสัมพันธ์
การประชาสัมพันธ์ การแจ้งข่าวสารเพื่อให้ผู้นำหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้รับทราบมีหลายวิธีครับ ตั้งแต่ทำหนังสืออย่างเป็นทางการจาก อบต. เทศบาล ไปถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส.อบต. สท. ให้ช่วยกระจายข่าวให้ หรืออาจใช้ช่องทางอื่นๆ ที่ปัจจุบันมีแทบทุกตำบล ทุกหมู่บ้านอย่างไลน์ก็ใช้ได้เหมือนกันนะ
ผมใช้หลากหลายรูปแบบครับ ทำหนังสือไปหากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส.อบต. ให้ช่วยประชาสัมพันธ์ทางหอกระจายข่าวให้ และแจ้งในห้องไลน์ต่างๆ ด้วยภาพป้ายประชาสัมพันธ์ หลังจากนั้น สองอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคม แจ้งชื่อไปด้วยว่าเหลือใครยังไม่มา โดยเฉพาะกลุ่มที่ย้ายมา เราไม่รู้หรอกครับว่าใครย้ายมา แต่ให้เราย้ำบ่อยๆ ว่า ผู้ที่ย้ายมาให้มาลงด้วย
บาง อปท.เขาทำป้ายประชาสัมพันธ์ติดหน้า อปท. หรือติดตามหมู่บ้าน ก็มีครับ
3.เตรียมสถานที่รับลงทะเบียน
สถานที่ที่จะรับลงทะเบียนต้องวางแผนนะครับว่า จะใช้สถานที่สำนักงาน หรือออกพื้นที่ไปหาชาวบ้าน ถ้าเลือกอย่างหลัง ต้องนึกเผื่อด้วยนะครับ เรามีใครไปกับเราบ้าง รวมถึงเอกสารที่ต้องเตรียมไปมีอะไรบ้าง ต้องเตรียมให้พร้อม รวมถึงพวกคำสั่งต่างๆ ด้วย อย่างผมเปิดรับลงทะเบียนแค่เดือนตุลาคม ต้องเก็บให้หมด เดือนพฤศจิกายนให้เหลือเพียงคนที่ย้ายมาเท่านั้น ลงไปพื้นที่รับจะสะดวกสุดสำหรับชาวบ้าน หรือรับที่สำนักงานก็ไม่เป็นอะไร
4.หลักฐานประกอบการลงทะเบียน
มีถามกันมาหลายคนว่า เรายังต้องแนบเอกสารหลักฐานของผู้สูงอายุกับคำขอลงทะเบียนขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยหรือไม่ เนื่องจากว่ามีหนังสือแจ้งมาเรื่องความสะดวกของประชาชน ไม่ให้เรียกหลักฐานถ่ายเอกสาร ก็ระเบียบมันบอกไว้ รอระเบียบฉบับใหม่ ผมว่าไม่น่าจะเรียกเก็บแล้วล่ะครับ รอแป๊บหนึ่ง ได้ยินแว่วๆ ว่ามีการลงทะเบียนออนไลน์กันด้วย หลักฐานมีดังนี้ครับ
1.บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย
2.ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน ผมวงเล็บไว้ว่า ที่เป็นปัจจุบัน เพราะบางคนย้ายไปอยู่ที่อื่นนานแล้ว ทะเบียนบ้านยังอยู่ที่เดิมอยู่เลย ไม่ยอมไปปรับให้ข้อมูลเป็นปัจจุบัน
3.สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ซึ่งเป็นธนาคารอะไรก็ได้ รับได้หมด ขอให้เป็นสมุดแบบออมทรัพย์ ไม่ใช่กระแสรายวัน
คำว่า ไม่ให้เรียกเก็บเอกสาร คือไม่ให้ชาวบ้านวิ่งไปถ่ายเอกสารครับ ชาวบ้านถือตัวจริงมา เราถ่ายเอกสารให้ และไม่เก็บเงินเขา เป็นอันใช้ได้
5.วิธีการรับเงินของผู้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
วิธีการรับเงินเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ หลายแห่งบังคับแล้วครับว่าต้องเป็นการรับเงินผ่านทางธนาคารเท่านั้น ส่วนจะเป็นการรับผ่านทางธนาคารในนามของผู้มีสิทธิ หรือรับผ่านทางธนาคารในนามบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีสิทธิ ก็แล้วแต่ผู้มีสิทธิ แต่ก็ผ่านธนาคารเหมือนเดิม ไม่มีเงินสดแล้ว ยกเว้นกรณีผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่มีคนดูแลจริงๆ
แต่จริงๆ วิธีการรับเงินเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ หรือเบี้ยความพิการของคนพิการ เขาให้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้รับเบี้ยดังนี้ครับ
1.รับเงินสดด้วยตนเอง
2.รับเงินสดโดยบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีสิทธิ
3.โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามผู้มีสิทธิ
4.โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีสิทธิ
ถ้าผู้สูงอายุย้ายจะทำอย่างไร
ผู้สูงอายุย้าย เจอกันเป็นประจำทุกปีงบประมาณ แล้วก็มีถามกันมาทุกปีงบครับ ผมสรุปสั้นๆ อย่างนี้นะครับ ถ้ามีผู้สูงอายุย้ายในปีงบ 2566 ให้ อปท.เดิมแจ้งผู้สูงอายุว่าต้องไปลงทะเบียนที่ อปท.ใหม่ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 แล้ว อปท.เดิมต้องจ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุนั้นจนสิ้นปีงบ 2566 คือเดือนกันยายน 2566
แล้วผู้สูงอายุจะต้องมาลงทะเบียนที่ อปท.แห่งใหม่ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 และ อปท.แห่งใหม่ต้องจ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 (ปีงบประมาณ 2567) บางคนถามว่า เขามาลงทะเบียนเดือนตุลาเดือนพฤศจิกาก็บันทึกข้อมูลในระบบสารสนเทศไม่ทันสิ ก็เอาเงินในข้อบัญญัติเราไงครับจ่ายไปก่อนสองเดือนคือตุลาคมกับพฤศจิกายน 2566
ประมาณวันที่ 1-25 พฤศจิกายน ของทุกปี ระบบสารสนเทศเขาจะเปิดระบบให้บันทึกย้อนหลัง เราก็ค่อยบันทึก แล้วระบบจะดึงไปจ่ายในเดือนธันวาคม สองเดือนที่เราจ่ายไปก่อน เราก็ไปขอเพิ่มเติมในเดือนกรกฎาคม (หนังสือของบเพิ่มเติมจะมาประมาณนั้น)
รอบนี้เอาแค่นี้ก่อนนะครับ หนังสือซักซ้อมแนวทางการรับลงทะเบียนเพิ่งออกมา และถือว่าละเอียดพอสมควรครับ ถ้ามีอะไรไม่เข้าใจก็ถามมาครับ จะเล่าให้ฟังอีก ขอบคุณที่ทนอ่านมาจนถึงตรงนี้ ขอบคุณครับ
[embeddoc url=”https://phorchor.com/wp-content/uploads/2022/10/หนังสือ.pdf”]อ่านเรื่องอื่นประกอบ
ลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปีงบประมาณ 2565 ต้องทำอย่างไรบ้าง
หนังสือซักซ้อมการรับลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประจำปีงบประมาณ 2567
นักพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รองประธาน ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย)
ลูกของแม่ และเพื่อนของท่าน