เบี้ยยังชีพปีงบ 63 มีแนวทางการรับลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอย่างไร และมีแนวทางในการจ่ายเงินอย่างไร และอื่นๆ อีกมากมายที่หลายๆ ท่านถามมา พอผมบอกว่าให้ดูแนวทางตามหนังสือสั่งการ หลายคนเหล่านั้นบอกว่า แนวทางไม่มีแนวทาง
เอ…..มันยังไง
เบี้ยยังชีพปีงบ 63 มีหนังสือซักซ้อมมามั้ย
ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.6/ว 5546 ลงวันที่ 28 กันยายน 2561 เรื่อง การรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 บอกมานิดเดียวว่า
ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดให้มีการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน 2561 และเดือนมกราคม ถึงเดือนกันยายน 2562
โดยรับลงทะเบียนผู้ที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนมาก่อน และผู้ที่จะ (ย้าว่า “จะ”) มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณถัดไป นับถึงวันที่ 1 กันยายน 2563 ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2503 นั่นเอง
อ้อ รับลงทะเบียนกลุ่มที่ย้ายภูมิลำเนาเข้ามาอยู่ในพื้นที่เราด้วยนะครับ
หนังสือบอกแค่นี้ แล้วก็มีเอกสารประกอบห้อยท้ายมานิดหน่อย ไม่มีแนวทางมาให้ว่าจะให้เราองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำยังไง
รายละเอียดหนังสือการรับลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปีงบประมาณ 2563
ดูเอกสารประกอบแล้ว ผมเชื่อว่าบรรดาสมาชิกชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย) คงเข้าใจดี
เข้าใจว่า ภายในเดือนตุลาคม และเดือนพฤศจิกายน 2561 นี้ ต้องตามผู้สูงอายุที่เข้าเกณฑ์ลงทะเบียนได้ ตามรายชื่อที่เราขอมาจากสำนักทะเบียนมาลงทะเบียนให้เรียบร้อย และเดือนมกราคมถึงกันยายน 2562 ควรเป็นการเก็บตกเท่านั้น
แล้วก็ควรจะบันทึกข้อมูลในระบบสารสนเทศให้เรียบร้อยภายในเดือนธันวาคม เพราะจะได้ใช้ข้อมูลนี้ของบประมาณ
โดยผู้ที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้วจะได้รับเงินตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 หรือปีงบประมาณ 2563 เป็นต้นไป ส่วนผู้ที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ 2563 จะได้รับเงินตั้งแต่เดือนถัดจากที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
กลุ่มที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้วก็คือกลุ่มที่เกิดก่อนวันที่ 2 ตุลาคม 2502 และกลุ่มที่ย้ายภูมิลำเนาเข้ามาใหม่ ส่วนกลุ่มที่จะได้รับเงินแบบ Happy birthday หรือรับในเดือนถัดไปจากที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ก็คือกลุ่มที่เกิดระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2502 จนถึงวันที่ 1 กันยายน 2503
แต่คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกผมเชื่อขนมกินได้เลยว่า คงงง แน่นอน
ก็ปกติทุกๆ ปีเคยเจอแนวทางแบบบอกมาเป็นข้อๆ ว่า ข้อ 1 เตรียมการอย่างไร ข้อ 2 รับลงทะเบียนยังไง พิมพ์รายชื่อส่งจังหวัดวันไหน เป็นต้น แต่นี่ไม่มีบอกเลย
อ่าน แนวทางการรับลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปีงบ 62 ประกอบ
ถ้าหากว่ารับลงทะเบียนเสร็จยังไม่มีหนังสือสั่งการเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาอีก ผมว่าปัญหาที่จะตามมาคือ ปลัด คลัง คงไม่ยอมลงลายมือชื่อในเอกสารรับรองการรับลงทะเบียนที่เราพิมพ์จากระบบส่งอำเภอ จังหวัด หรอกครับผมว่านะ ก็ล่าสุดมีหนังสือสั่งการมายังอิดออดเลย
ปัญหาหนึ่งที่ต้องเจอแน่นอนคือ การย้ายของผู้สูงอายุ เพราะในปีงบประมาณ 2562 ขณะนี้มีปัญหามาก
ผู้สูงอายุย้ายในเดือนกันยายน 2561 อาทิตย์สุดท้ายของเดือนพอดี แล้วไปลงทะเบียนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่ไม่ทันในเดือนกันยายน 2561 พอตุลาคมที่ใหม่เขารับลงทะเบียนแต่เป็นการรับปีงบ 63 ปัญหาเกิดเพราะที่เก่ารีบตัดออกจากระบบพร้อมทั้งไม่ประกาศรายชื่อในปีงบ 62
ที่เก่าตัดออก ที่ใหม่ก็จ่ายไม่ได้ ผู้สูงอายุเลยเสียสิทธิไป 1 ปี
หลายคนเจอมากับตัวเอง หรืออาจจะมีเพื่อนเล่าให้ฟังเชิงปรึกษาหารือคือ ผู้สูงอายุย้ายเข้ามา แต่ไม่ยอมมาลงทะเบียน ตามแล้วไม่เจอ คือเรารู้แต่ตามไม่ได้ หรือเราไม่รู้ พอถึงเดือนตุลาคม 2561 เงินไม่เข้าบัญชี เริ่มมาตามที่ อปท.แระ ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน
ผู้สูงอายุเขาคิดว่า เขาย้ายเขาไม่จำเป็นต้องไปลงทะเบียน อปท.จะประสานกันเอง
การย้ายของผู้สูงอายุ อัพเดทล่าสุด
ล่าสุด เรื่องของการย้ายของผู้สูงอายุ มีหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.6/ว 6562 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
หนังสือบอกไว้ในข้อ 3 อย่างนี้ครับ
กรณีผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่ แล้วมีการย้ายภูมิลำเนาไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการดังนี้
3.1 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งเดิม แจ้งให้ผู้สูงอายุทราบว่า ผู้สูงอายุต้องไปลงทะเบียน และยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่ ภายในเดือนพฤศจิกายนของปีนั้นๆ
3.2 ในระหว่างปีงบประมาณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ที่จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ยังคงจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป จนกว่าจะสิ้นปีงบประมาณ
3.3 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่ ที่ได้รับลงทะเบียนและคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีการย้ายภูมิลำเนา เป็นผู้จ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุนั้น ตั้งแต่ปีงบประมาณถัดไป
3.4 กรณีที่ผู้สูงอายุได้ย้ายภูมิลำเนา แต่ไม่ได้ไปลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่ ทำให้ไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งเดิมและแห่งใหม่ หากภายหลังได้ไปลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่แล้ว ก็ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่ดำเนินการตามข้อ 3.3
คงมีความชัดเจนขึ้นนะครับ ในประเด็นการย้ายของผู้สูงอายุ ใครเป็นคนจ่ายเงิน ที่เก่าหรือที่ใหม่ ส่วนประเด็นที่ว่า ผู้สูงอายุย้าย แต่ไม่ไปลงทะเบียน ทำให้เสียสิทธิไป และยิ่งที่เก่าเงินในปีที่ผ่านๆ มาได้รับการจัดสรรไม่พออยู่แล้ว ยิ่งได้โอกาสตัดออกทันทีที่ทราบว่าย้าย
คงต้องรอแนวทางจากกรมส่งเสริมกันต่อไป
นักพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รองประธาน ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย)
ลูกของแม่ และเพื่อนของท่าน