เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 2564 ลงทะเบียนที่ไหน ไม่ใช่แม่ของเด็กลงทะเบียนได้มั้ย เอกสารที่ต้องเตรียมไปมีอะไรบ้าง และคำถามมากมายก่ายกองอีกสารพัดคำถาม โดยเฉพาะคำถามที่ว่า “เมื่อไรจะได้เงิน” ผมว่านักพัฒนาชุมชนที่ทำงานอยู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเจอประจำจนไม่รู้จะตอบยังไง
ซึ่งว่ากันตามจริงพวกเราที่ทำงานอยู่ท้องถิ่นตอบไม่ได้หรอกครับ เพราะเราไม่รู้จริงๆ เรารู้เพียงว่าเราเป็นคนรับลงทะเบียนด้วยเหตุว่า เราอยู่ใกล้ชาวบ้าน เท่านั้นเองครับ อ้าว…แล้วงานนี้มันเป็นของใครล่ะครับ ล้อมวงเข้ามาครับ จะเล่าให้ฟัง
เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด มีความเป็นมายังไง
โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เป็นโครงการที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กของครอบครัวยากจน เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีพัฒนาการเหมาะสมตามวัย ขอย้ำว่าให้เงินกับครอบครัวยากจนนะครับ ไม่ได้ให้กับเด็กทุกคน
แรกเริ่มเดิมทีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มที่อยู่นอกระบบประกันสังคมครับ รายได้เฉลี่ยกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 36,000 บาทต่อคนต่อปี โดยเป็นเด็กที่เกิดระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2559 โดยจ่ายให้รายละ 400 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 1 ปี
ต่อมาขยายเป็นให้เงินตั้งแต่เกิดจนถึง 3 ปี และเพิ่มวงเงินจาก 400 บาทต่อเดือนเป็น 600 บาทต่อเดือน และในปีงบประมาณ 2561 ยกเลิกเงื่อนไขประกันสังคม คือ ถึงจะมีประกันสังคมก็สามารถลงทะเบียนได้ แล้วก็เอาข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผู้มีรายได้น้อย) มาจับด้วย
ต่อมาในปี 2562 ขยายให้เงินอุดหนุนตั้งแต่เกิดจนถึง 6 ปี และเกณฑ์รายได้เป็นไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี
เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 2564 นี้ใครจะได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดนี้บ้าง
เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดในปี 2564 นี้ ผู้ที่มีสิทธิได้รับก็คือ ผู้ลงทะเบียนรายเดิมที่ลูกหรือเด็กยังมีอายุไม่ถึง 6 ปีบริบูรณ์ และผู้ลงทะเบียนรายใหม่ที่บันทึกข้อมูลในระบบฐานข้อมูลของโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเรียบร้อยแล้ว (บันทึกทั้ง อปท. และ พมจ.)
ใครบ้างที่สามารถลงทะเบียน เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เพื่อขอรับสิทธิได้
อันดับแรก ให้ตรวจสอบเด็กก่อนนะครับ เด็กที่มีคุณสมบัติว่าสามารถลงทะเบียนได้คือ
1.ต้องมีสัญชาติไทย
2.พ่อแม่ของเด็กต้องมีสัญชาติไทย หรือคนใดคนหนึ่ง (พ่อหรือแม่) ต้องมีสัญชาติไทย
3.เป็นเด็กที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป จนมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์
4.อาศัยอยู่กับผู้ปกครองที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
5.ไม่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐ หรือเอกชน
ผู้ปกครองที่มีสิทธิลงทะเบียน เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ปี 2564
1.มีสัญชาติไทย
2.เป็นคนที่เลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (ไม่ใช่พ่อแม่ก็ได้ อาจเป็นปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอาก็ได้) เด็กอาศัยอยู่ด้วย
3.อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อย คือมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี
4.มีประกันสังคม หรือไม่มีก็ลงทะเบียนได้ ข้าราชการก็ลงทะเบียนได้
5.กำลังท้องอยู่ ยังไม่คลอด ไม่ต้องมาลงทะเบียนครับ รอให้คลอดก่อนค่อยมา
ลงทะเบียนที่ไหนได้บ้าง
คุณแม่ที่เคยลงทะเบียนไว้แล้วในปีที่แล้วหรือปีก่อนโน้นตามระเบียบเก่า ไม่ต้องมาลงทะเบียนใหม่ ท่านจะได้รับเงินจนเด็กมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ ส่วนคุณแม่ที่เพิ่งคลอดและยังไม่เคยลงทะเบียนลูกคนที่คลอดนี้ให้มาลงทะเบียนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต./เทศบาล ถ้าอยู่กรุงเทพก็ไปลงที่สำนักงานเขตที่อาศัยอยู่ หรือเมืองพัทยา)
เอกสารที่ใช้ในการลงทะเบียนมีอะไรบ้าง
1.แบบคำร้อง ดร.01
2.แบบรับรองสถานะครัวเรือน ดร.02 โดยมีผู้รับรองคนที่ 1 เป็น อพม. หรือ อสม. หรืออื่นๆ ตามภาพประกอบ ผู้รับรองคนที่ 2 เป็น ประธาน อพม. หรือ กำนัน หรือ ผู้ใหญ่บ้าน หรืออื่นๆ ตามภาพประกอบ
3.บัตรประชาชนผู้ลงทะเบียน (ถ้าผู้ลงทะเบียนเป็นข้าราชการ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพนักงานบริษัทเอกชนให้นำหนังสือรับรองเงินเดือนมาแนบด้วย)
4.สูติบัตรเด็กแรกเกิด
5.สมุดบัญชีเงินฝากผู้ลงทะเบียน (ใช้ของกรุงไทย ออมสิน ธกส. เท่านั้น)
6.สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก (สมุดฝากท้องสีชมพู)
7.สำเนาบัตรของผู้รับรองคนที่ 1 และคนที่ 2
ดาวน์โหลดเอกสารการลงทะเบียนได้ที่นี่
สรุปขั้นตอนการลงทะเบียนเด็กแรกเกิด
1.กรอกเอกสาร ดร.01 ดร.02 พร้อมแนบเอกสารประกอบ (ข้อควรระวังคือ เลขบัตรประชาชนกรอกให้ชัดเจน ทีผลกับการบันทึกในระบบ)
2.ผู้ลงทะเบียนไปยื่นเอกสารที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3.หน่วยรับลงทะเบียนตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อย
4.หน่วยรับลงทะเบียนปิดประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ 15 วันทำการ
5.ครบ 15 วันเจ้าหน้าที่หน่วยรับลงทะเบียนบันทึกข้อมูลเบื้องต้นในระบบสารสนเทศ
6.หน่วยรับลงทะเบียนส่งเอกสารไปยังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)
7.พมจ.บันทึกข้อมูลเพิ่มเติมในระบบสารสนเทศ
8.กรมเด็กประมวลผลส่งชื่อให้กรมบัญชีกลาง
9.กรมบัญชีกลางส่งรายชื่อตรวจสอบข้อมูลผู้มีสิทธิกับกรมการปกครอง
10.กรมบัญชีกลางโอนเงิน
11.สาธารณสุขติดตามประเมินผลพัฒนาการเด็ก
โดยปกติจะเป็นไปตามขั้นตอนที่ผมสรุปคร่าวๆ อย่างนี้แหละครับ ซึ่งขั้นตอนตั้งแต้ข้อ 7 จนถึงสุดท้าย เราที่รับลงทะเบียนไม่รู้รายละเอียดจริงๆ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เตรียมจัดแบบถ้วนหน้า ในปีงบ 65
นักพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รองประธาน ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย)
ลูกของแม่ และเพื่อนของท่าน